ลุ้นเฟ้นอีก 2 กกต.ช่องทางปกติ-พิเศษ ร่วมดรีมทีม7อรหันต์ จัด’เลือกตั้งปี62′

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติโหวตเลือกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พ.ศ.2560

ทั้ง 7 กกต.ใหม่ มีวาระการทำหน้าที่ 7 ปีเต็ม ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแมป คือในห้วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562
การโหวตเลือก 7 กกต.ของ สนช.เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการแก้มือในรอบที่สอง เพราะการโหวตในรอบแรก ที่ประชุม สนช.มีมติคว่ำล้มกระดานว่าที่ 7 กกต.ยกชุดไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การโหวตเลือก 7 กกต.ของ สนช.ในรอบที่สอง ว่าที่ กกต.ใหม่ต้องผ่านด่านได้รับเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 123 เสียง ของที่ประชุม สนช. 246 คน โดย สนช.โหวตให้ผ่านด่านมาได้เพียง 5 คน ได้แก่ 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

3.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 4.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 5.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

Advertisement

โดยมีว่าที่ กกต. 2 คนถูกที่ประชุม สนช.ตีตก คือ 1.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 2.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ที่ถูกร้องเรียนทั้งเรื่องคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมทั้งความเป็นกลางทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้สมาชิก สนช.ไม่ไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่ กกต.ชุดใหม่

แม้จะได้แค่ว่าที่ 5 กกต.ใหม่ที่ผ่านด่านจากที่ประชุม สนช. แต่ก็เพียงพอที่จะทำหน้าที่เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในห้วงต้นปี 2562 ได้ โดยว่าที่ 5 กกต.จะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ “ประธาน กกต.” ซึ่งจะทำหน้าที่รักษาการ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ด้วย

ขณะที่แนวโน้มผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กกต.คนใหม่ มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะมาจาก กกต.ที่มาจากสายศาลฎีกา คือ “ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี” และ “ปกรณ์ มหรรณพ” เนื่องจากจะต้องได้มือกฎหมายที่เชี่ยวชาญ มาชี้ขาดคดีความเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่จะต้องแจกทั้งใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ ตามกฎหมายเลือกตั้งใหม่

Advertisement

สเต็ปต่อไปในระหว่างที่ยังไม่ได้ กกต.ครบทั้ง 7 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. จะต้องเริ่มนับหนึ่งสรรหาอีก 2 กกต. ตามกรอบเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือน และต้องมาลุ้นกับที่ประชุม สนช.ในรอบที่สามว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งได้

แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ได้เปิดช่องทางพิเศษไว้ในมาตรา 12 ที่เปิดช่องให้คณะกรรมการสรรหาไป “ทาบทาม” บุคคลที่มีความเหมาะสมมาเป็น “กกต.” ได้โดยที่เจ้าตัวต้องยินยอมมาทำหน้าที่

จากนี้คงต้องติดตามดูว่าท้ายที่สุดหากคณะกรรมการสรรหาใช้ขั้นตอนปกติหรือช่องทางพิเศษเลือกอีก 2 กกต.มาร่วมเป็นดรีมทีม 7 กกต.จัดการเลือกตั้ง
เพื่อชี้ขาดผลการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะได้ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image