คำเตือนจากไอเอ็มเอฟ

รายงานการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิค เอาท์ลุก) ฉบับล่าสุดซึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จัดทำเป็นประจำทุกปีและเผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 กรกฎาคมนี้ มีคำเตือนเป็นกรณีพิเศษถึงความตึงเครียดทางการค้าที่กำลังลุกลามมากขึ้นทุกทีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพิ่งยกระดับความขัดแย้งทางการค้ากับจีนให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยสั่งการให้เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเติมจากการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้ามูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์จากจีนที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

รัฐบาลจีนใช้มาตรการเดียวกันตอบโต้สินค้าในมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์เท่ากันจากสหรัฐอเมริกาไปแล้ว และประกาศเตรียมตอบโต้เหมือนๆกันอีกระลอก หากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกครั้ง

ไอเอ็มเอฟ ระบุไว้ชัดเจนในรายงานล่าสุดนี้ว่า การตอบโต้ทางการค้าซึ่งกันและกันดังกล่าว นอกจากจะทำให้การค้าระหว่างประเทศโดยรวมของโลกลดต่ำลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนทางธุรกิจ, ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต หรือ ซัพพลาย เชน ของโลกให้เกิดการสะดุด ชะงักงัน, ทำให้การกระจายตัวของเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชะลอตัว และทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น

Advertisement

โดยรูปธรรมแล้ว ไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้การขยายตัวของการค้าโลกลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเม็ดเงินรวมแล้วราว 430,000 ล้านดอลลาร์

ไอเอ็มเอฟ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ก่อความขัดแย้งทางการค้ากับจีนเพียงประเทศเดียว แต่ยังสร้างความตึงเครียดทางการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย

หลังสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ เดินทางเยือนยุโรปแล้วก่อความตึงเครียดไปตามรายทาง ถึงกับแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า สำหรับตนแล้ว สหภาพยุโรปคือหนึ่งใน “ศัตรูทางการค้าที่ใหญ่ที่สุด” ของตนเอง

Advertisement

นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ เตือนสหรัฐอเมริกาเอาไว้ตรงไปตรงมามากว่า ในขณะที่สภาพสงครามทางการค้าทำให้ทุกๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนเหมือนๆ กันทั้งหมด แต่ถึงที่สุดแล้ว สหรัฐอเมริกาจะพบว่า ประเทศตัวเองกลายเป็น “จุดศูนย์รวมของการตอบโต้ทางการค้า” จากนานาประเทศที่ขัดแย้งด้วย

ส่งผลให้สัดส่วนของสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูง มีสัดส่วนสูงกว่าของประเทศอื่นๆ “ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเสี่ยงเป็นพิเศษ” ตามไปด้วย

ในทัศนะของไอเอ็มเอฟ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก แม้จะยังขยายตัวแข็งแกร่งต่อไป โดยจะยังคงขยายตัวได้ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ทั้งในปีนี้ และในปีหน้า “แต่การเติบโตจะยิ่งไม่สม่ำเสมอมากขึ้น และความเสี่ยงต่อภาพโดยรวมจะยิ่งทวีมากขึ้น”

นั่นหมายความว่าในขณะที่ประเทศบางประเทศขยายตัวได้ดี อีกบางประเทศกลับชะลอการเติบโตลงอย่างเห็นได้ชัด

ไอเอ็มเอฟเตือนว่า สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และ ญี่ปุ่น จะชะลอลงมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอ่อนแอลงแล้ว ปัญหาตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ไอเอ็มเอฟ ปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรลง จากเดิมที่คาดว่าจะโตที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ลงมาเหลือเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เป็นผลพวงสำคัญจากการชะลอลงอย่างมากของเศรษฐกิจที่นั่นในช่วงไตรมาสแรกของปี มีปัญหาทั้งสภาวะอากาศเย็นจัด หิมะตกหนัก และเพิ่งฟื้นตัวเบาบางมานับตั้งแต่นั้น แถมปัญหาเบร็กซิท ยังคาราคาซัง ไม่มีผลคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี ถูกปรับลดการขยายตัวลงมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรหรือยูโรโซน ถูกปรับลดการขยายตัวลงจาก 2.4 เปอร์เซ็นต์เป็น 2.2 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของจีน ไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง มาอยู่ที่ 6.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ส่วนญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่อัตราการขยายตัวต่ำสุด ที่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สหรัฐอเมริกา แม้จะมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า แต่การที่รัฐบาลมีมาตรการลดภาษีลง ก็กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับหนึ่งและจะยังคงขยายตัวอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์

นอกเหนือจากเรื่องความขัดแย้งทางการค้าแล้ว ไอเอ็มเอฟยังเล็งเห็นความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาที่จะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งดูเหมือนว่าตลาดเงินโลกโดยรวมแล้วยังประมาทไม่ระมัดระวังผลกระทบจากทั้งสองปัญหาเสี่ยงนี้อยู่ในเวลานี้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image