อนาคตของครูใน “กำมือ” ลูกศิษย์

ยังคงไม่จบง่ายๆ กรณีของ “ครูวิภา” กับการถูกตามทวงหนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ในฐานะคนค้ำประกันให้กับเหล่าลูกศิษย์ตาดำๆ ในวันนั้น ก่อนที่ศิษย์จำนวนหนึ่งในวันนี้ จะละเลยชดใช้หนี้ที่นำมาเป็นทุนเรียน

ตามข่าวหนี้ที่ “ชักดาบ” ถูกมาตรการทางโซเชียลเล่นงานเปิดเผยรายชื่อและตัวตนออกมา หลายคนเหมือน “อับอาย” เป็นการอับอายที่ถูกแฉ มากกว่าจะมาแสดงความรู้สึกว่า “สำนึก” เพราะ “สำนึก” ควรมีมาตั้งแต่ต้น ตามที่สังคมรับรู้ ศิษย์ “ชักดาบ” ที่เหลืออยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวน 60 คนที่มีการค้ำประกัน ต่างทยอยรีบไปปิดหนี้ที่กู้ยืมมาได้อย่างทันทีทันควัน รู้ได้ทุกขั้นตอนว่า หนี้ที่มีอยู่จะไปปิดยังไง

บางคนยังกล้าบอกนักข่าวว่า ทำไมครูวิภาต้องมาเดือดร้อน แทนที่ กยศ.จะมาไล่จัดการกับพวกตนมากกว่าในฐานะคนกู้ บางคนก็อ้างไม่เคยคิดว่า ครูวิภาจะเดือดร้อนขนาดนี้  ทำไมค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืมถึง 60 คน

ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลเหมือนเอาสีข้างเข้าถู ทุกคนย่อมรู้หน้าที่ของตัวเองดีอยู่แล้ว “เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย” เมื่อจ่ายแล้ว วิบากกรรมคงไม่ไปถึง “ครูวิภา” มาถึงทุกวันนี้

Advertisement

ตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ฉบับปรับปรุงใหม่ เดิมเป็นฉบับ พ.ศ.2541 มีการตราไว้ทั้งสิ้น 64 มาตรา  เขียนไว้ในหมวดที่ 5 การชำระเงินคืนกองทุน (กยศ.)  โดยมาตรา 44 บอกไว้ว่า เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมตามสัญญาที่ทางกองทุนแจ้งไปแต่แรกแล้ว

มาตรา  49 ระบุถึงหนี้ว่า “กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินถึงแก่ความตาย ให้สัญญากู้ยืมเงิน หน้าที่ และความรับผิดที่ผู้กู้ยืมเงินมีต่อกองทุนเป็นอันระงับไป”

“หรือในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินพิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ให้ผู้จัดการมีอํานาจพิจารณาสั่งระงับการเรียกให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด”

Advertisement

ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย การดําเนินการเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด”

ตามที่มาตรา 49 เมื่อคนกู้ยืมมีอันจบชีวิต สัญญาการกู้ยืมเงิน กยศ.เป็นอันจบไปสำหรับคนกู้ แต่หนี้ก้อนดังกล่าวยังคงหลอกหลอนคนข้างหลังอยู่ ตามรายละเอียดเว็บไซด์ของกยศ. ที่บอกว่า “กรณีที่มีเงินโอนให้กับผู้กู้ยืมหลังจากวันที่ผู้กู้ยืมเสียชีวิต ทายาท/ผู้ปกครอง/ผู้ค้ำประกัน มีหน้าที่ที่จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่กองทุนฯ ต่อไป”

คนค้ำเงินกู้อย่าง “ครูวิภา” ก็รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า การค้ำประกันให้ใครก็ตาม ย่อมมีหลักของ “ความเสี่ยง” เต็มไปหมด จนกว่าหนี้นั้นจะถูกชำระโดยผู้กู้จนหมดสิ้น แต่การที่ “ครูวิภา” กล้าค้ำให้ในวินาทีนั้น เป็นเรื่องของการใช้หัวใจของความเป็นครูต้องการให้เด็กได้มีความรู้ต่อไป เชื่อโดยสนิทใจไม่ลังเลว่า เงินที่กู้มาเมื่อเขาและเธอเหล่านี้เติบโตมา มีการงานทำ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กสามารถจะช่วยกันชำระหนี้ได้ต่อไป

เรื่องของ “ครูวิภา” เป็นเพียงแค่ซีนหนึ่งของหนังชีวิต ข้อมูลของ กยศ. ล่าสุดจนถึงเดือนเมษายน 2561 มีผู้ใช้บริการกู้ยืมกับกองทุนที่ตัวเลขกลมๆ 5.4 ล้านราย รวมกระทรวงการคลังที่ปล่อยเงินให้กยศ.ไปปล่อยกู้ส่วนนี้ทั้งสิ้น 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงกําลังศึกษา/อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1 ล้านราย / ผู้กู้ที่ชําระหนี้เสร็จสิ้น 8 แสนราย / ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 5 หมื่นราย / ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชําระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 4 แสนล้านบาท

พบว่าผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินไปเรียน เป็นกลุ่มผิดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย คิดเฉพาะกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีประมาณ 1 ล้านราย มีเงินไปจมอยู่ 4.8 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น จะมีคนค้ำอีกมากมายที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกับ “ครูวิภา”  จึงถือเป็นความโชคดีของเด็กๆ ที่ได้เจอ “ครูวิภา” และครูอีกหลายคน แต่จะเป็นความโชคร้ายของครูหรือไม่ คงไม่ต้องบอก วินาทีนี้ต้องให้กำลังใจครูให้มากที่สุด ให้มีที่ยืนในสังคม ให้เป็นที่ยอมรับถึงการทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี

ขอเพียงศิษย์ที่ถูกเฝ้าพร่ำสอน ครูต้องปากเปียกปากแฉะ ระดมทั้งสมองและจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อให้ทุกคนมีอนาคตอย่าได้ต้องมาตัดอนาคตของครูกันเลย …. #บาปกรรม

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image