‘ม.40’ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าลูกจ้างเหมาทำของ

กรณีการเตรียมประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทนฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิสวัสดิการเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทนการหยุดงาน ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ รวมทั้งกรณีต่างๆ แก่ลูกจ้างเอกชนเพิ่มขึ้น และครอบคลุมไปถึง “ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร” และ “ลูกจ้างส่วนราชการ” อีกราว 1 ล้านคนทั่วประเทศนั้น

ก็ยังพบว่ามีจุดอ่อน เพราะสิทธินี้ยังไปไม่ถึงกลุ่มลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างเหมาบริการ หรือที่เรียกว่า “ลูกจ้างเหมาทำของ” อีกประมาณ 4 แสนคน ที่อยู่ในหน่วยราชการอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

แม้ว่า นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะเสนอทางเลือกให้ลูกจ้างเหมาทำของ และลูกจ้างรายวัน เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2535 โดยจ่ายเงินสมทบในส่วนลูกจ้างแบบเดียวกับกลุ่มแรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งมี 3 ทางเลือก ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท/เดือน รับสวัสดิการ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท/เดือน รับสวัสดิการ 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีชราภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และ

Advertisement

ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท/เดือน รับสวัสดิการ 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท อีกทั้งมีโบนัสหากจ่ายสมทบครบ 180 เดือน และกรณีสงเคราะห์บุตรแรกเกิดถึง 6 ปี สำหรับบุตร 2 คน

ในความเห็นนั้น ข้อเสนอให้ลูกจ้างในหน่วยราชการประมาณ 4 แสนคนเข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ตรงจุด

น่าสงสารลูกจ้างกลุ่มนี้ที่อยากจะมีสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เทียบเท่าหรือไม่ด้อยไปกว่าลูกจ้างอีกกว่า 10 ล้านคน แต่เปรียบเสมือนกำลังอยู่ตรงทางแยก ไม่รู้จะเดินไปทางไหน 1.รอให้หน่วยราชการดำเนินการจัดจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ 2.ตัดสินใจเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40

Advertisement

ไม่แน่ใจว่า ระหว่าง 2 แนวทางนี้ อะไรจะเหมาะสมกับลูกจ้างกว่า 4 แสนคนมากที่สุด หากเลือกข้อ 1 หน่วยราชการต่างๆ ที่มีการจ้างงานในลักษณะนี้อาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ หากเลือกข้อ 2 ก็เท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายชัดเจนที่จะ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม ไม่แน่ว่า “รูปแบบการจ้างแรงงานที่ไม่มีมาตรฐาน” (Non-Standard Employment) อาจจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันในเร็วๆ นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image