แบนสารกำจัดวัชพืช ผ่านคดี ‘มอนซานโต’

กรณีคณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ให้มอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,619 ล้านบาท ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ด้วยเหตุผลว่าสารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ยอดนิยมของกลุ่มเกษตรกร ในชื่อทางการค้า “ราวด์อัพ” ของมอนซานโตเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

แม้ว่า มอนซานโตยังปฏิเสธ และประกาศจะยื่นอุทธรณ์เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ใช้มานาน 40 ปี แต่ถือว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานของอีกประมาณ 5,000 คดี ทั้งในศาลของรัฐ และศาลรัฐบาลกลาง ที่มีการฟ้องร้องกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ในทำนองเดียวกัน

เห็นข่าวนี้แล้ว ทำให้หวนนึกถึงประเทศไทยบ้านเรา ในปีเดียวกัน ที่เครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรทางเลือก และนักวิชาการสายสุขภาพ ในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 369 องค์กร” ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ทบทวนและยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคเกษตรกรรม

ด้วยเหตุผลว่า 1.มีพิษเฉียบพลันสูง 2.เกิดพิษเรื้อรัง โดยเฉพาะพาราควอตทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีผลต่อสมองทารก 3.พบการตกค้างในน้ำ ดิน และพืชอาหารและสัตว์น้ำ 4.หากตกค้างในอาหารจะล้างไม่ออก 5.มากกว่า 50 ประเทศ ยกเลิกการใช้แล้ว และ 6.แม้จะจำกัดการใช้ก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา เพราะระบบการเฝ้าระวังในประเทศไทยยังไม่ดีพอ ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุข ก็เสนอให้ยกเลิกใช้ เพราะสารเคมีกำจัดวัชพืชเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

Advertisement

แต่ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับลงมติเสียงข้างมากอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แบบจำกัดการใช้ เพราะยังไม่มีสารตัวอื่นทดแทนและเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแนวทางการจำกัดการใช้เสนอกลับให้พิจารณาภายใน 60 วัน

แต่ผ่านไป 2 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ นอกเหนือจากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดประชุมในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ขณะที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 369 องค์กร ที่มีทั้งภาคประชาชน องค์กรต่างๆ รวมถึงกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข มองตรงกันว่า มติของกรรมการวัตถุอันตราย เข้าข่ายผิด ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

ล่าสุด คณะนักวิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ลงไปศึกษาวิจัยโรคเนื้อเน่า ที่ จ.หนองบัวลำภู พบข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีสถิติผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าเข้ารับการรักษาประมาณปีละ 120 ราย โดยในปี 2560 พบว่า ในช่วง 10 เดือน มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 102 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย แม้หลายรายยังไม่เสียชีวิต แต่ก็ต้องตัดแขน ตัดขา ซึ่งคาดว่ามีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร

คำตัดสินของศาลในนครซานฟรานซิสโก ข้อมูลทางวิชาการ เสียงเรียกร้องของภาคประชาชน อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าจะประกาศชะลอการใช้สารเหล่านี้ไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image