จับตา ‘รามัน’ Safety Zone แห่งที่สอง ในกระบวนการดับ ‘ไฟใต้’

“อำเภอรามัน” กำลังจะถูกจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safety Zone แห่งที่สอง ต่อจาก “อำเภอเจาะไอร้อง” จ.นราธิวาส ในพื้นที่ภัยความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เรื่องอยู่ระหว่างการตกลงพูดคุยกับคณะเจรจาสันติสุขของไทยกับตัวแทนมาราปาตานี โดยมีรัฐบาลของมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

อันนี้เป็นเพียงข่าวสั้นๆ ที่มีการรายงานออกมาจากที่ประชุมในกระทรวงกลาโหม เมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล

เมื่อกล่าวถึงอำเภอรามัน ตั้งอยู่ใน จ.ยะลา ก็อาจจะได้ยินมาตลอดว่า เวลาเกิดเหตุความไม่สงบเกี่ยวกับการก่อการร้าย ก็จะมีพื้นที่ของอำเภอนี้รวมอยู่ด้วย ยิ่งไล่ 4 ทิศรอบข้างของอำเภอรามัน จะพบว่า อยู่ในวงพื้นที่สีแดงทั้งสิ้น หรือพื้นที่มีภัยความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือติดอำเภอยะรัง ทุ่งยางแดง และกะพ้อ จ.ปัตตานี ทางทิศตะวันออก ติดอำเภอบาเจาะ และอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง และอำเภอเมือง จ.ยะลา ส่วนทิศใต้ ติดกับอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส และอำเภอบันนังสตา จ.ยะลา

การที่กำลังบรรลุหลักการจัดตั้งพื้นที่ Safety Zone แห่งที่สองได้ นั่นย่อมหมายความพื้นที่เจาะไอร้องที่ถูกตั้งนำร่องไปนั้น น่าจะประสบความสำเร็จอย่างดี ที่ผ่านมายังไม่มีการเกิดเหตุเกี่ยวกับภัยความไม่สงบแรงๆ ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้

Advertisement

เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้เมื่อ 17 เม.ย. 2561 กรณีการใช้พื้นที่ อ.เจาะไอร้อง ทำ Safety Zone ที่เดินไปตามกระบวนการความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความตั้งใจจริงที่ฝ่ายเห็นต่างจะไม่ก่อเหตุในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจะไม่มีการใช้กำลัง ไม่ก่อให้เกิดการปะทะตามแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

เมื่อกล่าวถึงเจาะไอร้อง ที่นำร่องตั้งเป็น Safety Zone มีการตั้ง SafeHouse ที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีเจ้าหน้าที่ไทยและตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี ข้างละ 7 คน ร่วมกันทำงานในการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัยอีก 19 คนขึ้นมาทำงานในพื้นที่เจาะไอร้อง โดยมีระยะเวลาในการประเมินอาศัยตัวชี้วัดสำคัญ อาทิ การลดเหตุรุนแรง ระหว่างนั้นหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น จะต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุ หากพิสูจน์ไม่ได้จะยกเลิกเป็น Safety Zone ทันที

ขณะที่กลุ่มมาราปาตานี เคยออกหนังสือแถลงการณ์เมื่อ 28 ก.พ.61 ด้วยว่า ผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตกลงกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน ขึ้นใน 5 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมาตรวจสอบในปัจจุบัน เริ่มต้นไปแล้วที่เจาะไอร้อง และ รามัน กำลังตามมาเป็นอำเภอที่สอง ส่วนที่เหลือมีการปักหมุดทิ้งไว้คือ อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อำเภอบังนังสตา จ.ยะลา และ อำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี

Advertisement

จากนี้ไปเป็นเรื่องของการหาจุดลงตัวร่วมกันเพื่อทำให้เห็นว่า เหตุการณ์ “ไฟใต้” จะสงบลงได้มาจากความจริงจัง จริงใจและร่วมมือกัน แม้จะมีหลายคนยังบอกว่าเร็วเกินไปที่จะเห็นจุดนั้น แต่ ณ ปัจจุบันมีสัญญาณที่ดีว่า การพูดคุยกันของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างนั้นไม่ได้เสียของ แม้เหตุจะยังไม่สงบเสียทีเดียวก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image