2 พรรคใหม่ ชูปฏิรูปการเมือง ในความเหมือนมีความต่าง

ในยุคปฏิรูปการเมืองของ คสช. ที่นักการเมืองวิจารณ์ว่า เป็นความล้มเหลว เพราะกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม แต่ก็มี 2 พรรคการเมืองใหม่ ที่โชว์นโยบายที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง

หนึ่งคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตผู้นำม็อบ กปปส. เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค

โดยในการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเลือก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นหัวหน้าพรรค นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อดีตอัยการ เป็นเลขาธิการพรรค โดยไม่มีชื่อของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นกรรมการบริหารพรรค

พรรค รปช.ยังแถลงจุดยืนและแนวนโยบายของพรรค เช่น เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค และกำกับควบคุมผู้บริหารพรรค
ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

Advertisement

ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำหนดทิศทางของพรรค ส่วนนักการเมืองมีหน้าที่ทำความฝันของประชาชนให้สำเร็จ
โดยเป้าหมายคือ จะทำให้พรรค รปช.เป็นต้นแบบของพรรคการเมือง

“สุเทพ” ยังเคยไลฟ์สด เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคและเป็นเจ้าของพรรค โดยขอให้แต่ละคนเสียสละเงินคนละ 1 บาท/วัน หรือปีละ 365 บาท เพื่อเป็นทุนสำหรับพรรค

เป็นการบอกว่า พรรค รปช.เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนายทุนที่จะเข้าครอบงำพรรค

Advertisement

อีกหนึ่งคือ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นักธุรกิจ และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” นักวิชาการด้านกฎหมาย เป็นแกนนำ ได้ชูนโยบาย “การเมืองแบบใหม่”

จะทำให้พรรคอนาคตใหม่ เป็นโมเดลระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทย โดยทุกลำดับชั้นของการตัดสินใจจะยึดโยงกับสมาชิกพรรค และทำให้พรรคเติบโตด้วยเงินทุนที่ระดมจากประชาชน

เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของ โดยสมาชิกพรรคทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และสมาชิกพรรคทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ซึ่งทั้งพรรค รปช. และพรรคอนาคตใหม่ มีนโยบายในการทำพรรคที่เหมือนและคล้ายกันในบางเรื่อง

แต่ในความเหมือนกันของ 2 พรรคนี้ ก็มีความแตกต่าง และยืนอยู่กันคนละขั้ว

พรรคอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เป็นผู้นำความคิดของแต่ละกลุ่ม และไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้งมาก่อน

พรรคอนาคตใหม่ ยังประกาศจุดยืนว่า ไม่เอาเผด็จการ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ที่เป็นมรดก คสช.

ขณะที่พรรค รปช. จะมีแกนนำที่เป็นคนรุ่นเก่าเสียส่วนใหญ่ และเป็นที่รับรู้กันว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

เป็นความเหมือนและแตกต่างของการเมืองยุค 2 ขั้ว ที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจง่ายขึ้นว่า จะเลือกหรือไม่เลือกพรรคไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image