“ชมรมอนุรักษ์พญาไท”ลุยป้องสิทธิ…ร้องตึกสูง-ที่แคบ..ส่อผิดกฎหหมาย

“ชมรมอนุรักษ์พญาไท” เป็นการรวมกลุ่มกันของชุมชนผู้พักอาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งพญาไท กรุงเทพฯ อาทิ ซอยพหลโยธิน 5 ซอยอารีย์ 5 ซอยพหลโยธิน 7, 8, 9, 11 ซอยชำนาญอักษร และประดิพัทธ์ เพื่อร่วมมือร่วมใจกันปกป้องสิทธิของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่แคบๆ ที่ส่อว่าจะผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งปัญหาความแออัด จราจรติดขัด มลภาวะ และความปลอดภัยในชีวิต

ก่อนหน้านี้ “ชมรมอนุรักษ์พญาไท” บุกไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตพญาไท ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างอาคารสูงหลายโครงการ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะมิได้คำนึงถึงผังเมืองและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ที่คับแคบ

ทั้งที่ เขตพญาไทถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่สีน้ำตาล นั่นคือเป็นเขตที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก การที่มีอาคารสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคไม่พอรองรับ ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งความเป็นอยู่ที่แออัดขึ้น ที่จอดรถไม่เพียงพอ การจราจรติดขัดอย่างมาก ปัญหาควันพิษ ขยะล้น น้ำเสีย และน้ำท่วมขัง

Advertisement

ไม่รวมถึงปัญหาระหว่างก่อสร้างอาคาร ที่จะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าออกในพื้นที่ตลอดเวลา ทำให้ถนนพัง ขนอุปกรณ์ต่างๆ กลางถนน และก่อสร้างในเวลากลางคืน ทำให้ประชาชนไม่ได้หลับได้นอน

ต่อมา “รักษเกชา แฉ่ฉาย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ รวมทั้งประชุมสำนักงานเขตพญาไทและ “ชมรมอนุรักษ์พญาไท” เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกัน แต่ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งได้ โครงการต่างๆ ยังเดินหน้าก่อสร้างอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

Advertisement

“ชมรมอนุรักษ์พญาไท” จึงไปแจ้งความเอาผิดกับ “พวงเพ็ญ ชื่นค้า” ผู้อำนวยการเขตพญาไท และผู้เกี่ยวข้อง ฐานปล่อยปละละเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่ส่อว่าจะฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ

ล่าสุด “ชมรมอนุรักษ์พญาไท” ร่วมหารือกับ “วันชัย ถนอมศักดิ์” รองปลัดกรุงเทพฯ โดยตอกย้ำถึงปัญหาต่างๆ รวมทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริงที่อาคารสูงทั้งหลายส่อว่าจะผิดกฎหมาย อาทิ ข้อบังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่เชื่อว่าจะเป็นรายงานเท็จ เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

โดยเฉพาะการทำรายงานด้านการจราจร ที่ระบุว่าไม่ติดขัด เพราะเก็บข้อมูลแค่วันเดียว ในช่วงเวลาที่ไม่มีปัญหาจรจาจร ทั้งที่ตามหลักต้องเก็บข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งฤดูกาล

การเคลื่อนไหวของ”ชมรมอนุรักษ์พญาไท” มิได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่ว่าต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและอยู่ร่วมกันด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัดที่เป็นอยู่ และจะรุนแรงขึ้น หากเจ้าหน้าที่รัฐยัง “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image