เตะสกัด ’11 สภาวิชาชีพ’ : น่าสงสารประเทศไทย

ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … “ฉบับเจ้าปัญหา” ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมาตรา 64, 65 และ 66 ได้ “สกัด” ไม่ให้ “สภาวิชาชีพ” เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย รวมถึง การรับรองหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิชาชีพ

โดยให้สภาวิชาชีพมีเพียงหน้าที่ “สอบประเมิน” บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย เพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น

และในมาตรา 48 ยังกำหนดให้สถาบันการศึกษามีหน้าที่บริการทางวิชาการ และ “วิชาชีพ” โดยอ้างว่าเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุไว้

Advertisement

“สวนทาง” กับที่ทั่วโลกเขาทำกัน!!

ทำให้เกิด “คำถาม” มากมายจากสังคม แม้กระทั่งจากสภาวิชาชีพ 11 แห่ง ว่าเหตุใด “มหาวิทยาลัยไทย” จึง “กลัว” ที่จะให้สภาวิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรองหลักสูตร

เพราะหากติดตามข้อมูลข่าวสารในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา จะพบว่าระหว่างมหาวิทยาลัย และสภาวิชาชีพ ไม่ต่างจาก “ไม้เบื่อไม้เมา” กันมาโดยตลอด

Advertisement

มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจรู้สึกว่า “อำนาจ” ในการพิจารณา หรือรับรองหลักสูตร ควรเป็นของ “สภามหาวิทยาลัย” แต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนี้ ยังอ้างว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อผลิตบัณฑิตยุคใหม่ เพราะหากสภาวิชาชีพต้องเข้ามารับรองหลักสูตร จะทำให้การปรับเปลี่ยนทำได้ล่าช้า

ขณะที่ฝ่ายสภาวิชาชีพ มองว่าสภาวิชาชีพควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา และรับรองหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิชาชีพนั้นๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ “ชีวิต” และ “ทรัพย์สิน” ของผู้คนจำนวนมาก ทั้งแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ วิศวกร ฯลฯ

โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณสุข และการแพทย์ จะ “ตกต่ำ” ขนาดไหน??

ขนาดกำกับดูแลกันตั้งแต่ “ต้นน้ำ” หลายแห่งยังมีปัญหา

ฉะนั้น ถ้าปล่อยให้สภาวิชาชีพกำกับดูแลแค่ “ปลายน้ำ” คือการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากนักศึกษาสอบไม่ผ่าน “ใคร??” จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายครั้งหลายคราที่มีนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาชีพ อย่างนักศึกษาพยาบาล หรือนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากมหาวิทยาลัย “แอบ” เปิดหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรอง

และอีกหลายๆ ครั้ง จะเห็นว่านักศึกษาถูก “ลอยแพ”

เพราะแม้แต่หลักสูตรทั่วๆ ไป ที่มหาวิทยาลัยต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับรอง แต่ สกอ.ยังไม่ทันได้รับรอง มหาวิทยาลัยก็ชิงเปิดรับนักศึกษาเสียก่อน

บางแห่งถึงขั้นแอบไปเปิดศูนย์การเรียนรู้นอกที่ตั้ง “เถื่อน” จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวฉาวโฉ่กันมาแล้ว

สุดท้าย นักศึกษาก็กลายเป็น “เหยื่อ”

เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้สังคม “กังขา” มาโดยตลอด

ยิ่งล่าสุด ศธ.มีนโยบายให้ สกอ.ส่งหลักสูตรกว่า 3,000 หลักสูตร คืนให้มหาวิทยาลัยไปพิจารณาเอาเอง ส่วน สกอ.ค่อยตามไปควบคุมคุณภาพในภายหลัง

หมายความว่า จากนี้สภามหาวิทยาลัยจะมีอำนาจ “เบ็ดเสร็จ” ในการพิจารณาหลักสูตร และอนุมัติให้เปิดรับนักศึกษาได้เอง ทั้งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และหลักสูตรทั่วไป โดยไม่มีการถ่วงดุลจากสภาวิชาชีพ และ สกอ.

เท่ากับ “ติดปีก” ให้มหาวิทยาลัยเลยทีเดียว

มหาวิทยาลัยอยากเปิดหลักสูตรไหน ก็ว่ากันตามสบาย…

คำถามที่ตามมาคือ จะ “รับประกัน” ได้อย่างไร ว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งจะดำเนินการอยู่บนความ “รับผิดชอบ” ต่อสังคมอย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่แข่งกันรับนักศึกษาให้มากที่สุด เพื่อหา “รายได้” หรือ “ผลกำไร”

และใครจะเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษา ที่กลายเป็น “เหยื่อ” ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่วันยังค่ำ

ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มหาวิทยาลัยที่ไร้ซึ่งจรรยาบรรณเหล่านี้ มักจะ “ลอยตัว” อยู่เหนือปัญหา เพราะรู้ว่า สกอ.และ ศธ.จะต้องเข้ามาช่วยประนีประนอมยอมความกัน

แม้ในยุค นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะมีนโยบายไม่ให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยที่กระทำผิด และสนับสนุนให้นักศึกษา “ฟ้องร้อง” เอาผิดมหาวิทยาลัยนั้นๆ

แต่กว่าคดีความจะสิ้นสุด นักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้น ต้องเสียทั้งเวลา ทรัพย์สิน และอนาคต อีกเท่าไหร่

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือเยียวยา

“สังคม” กับ “ประเทศชาติ” จะได้ประโยชน์อะไร

ชั่งน้ำหนักแล้ว “ผลเสีย” มากกว่า “ผลดี” ล้านเปอร์เซ็นต์

แค่คิดเล่นๆ ว่าถ้า “ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. …” มีผลบังคับใช้จริงๆ

คงได้เห็นความ “โกลาหล” เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอย่างแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image