เปลี่ยนสภาพการจ้าง เรื่องร้อนรอบ28ปีของประกันสังคม

“สำนักงานประกันสังคม (สปส.)” ก่อตั้งมาครบ 28 ปี ปัจจุบันดูแลผู้ประกันตนกว่า 15 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน มีเงินสะสมในกองทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

ล่าสุด “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศกลยุทธ์ของ สปส.ในปี 2562 ว่า มีแผนจะดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น จากที่มีแรงงานนอกระบบแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ถึง 3-5 ล้านคน และจะมีการปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่ในส่วนของการดูแลผู้ประกันตน สปส.พยายามพิจารณาแนวทางเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนเกิดความพึงพอใจ แต่ในส่วนของพนักงานประกันสังคมนั้น มีแนวโน้มว่าอาจเกิดปัญหาจากการยกร่าง “ข้อบังคับคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการบริหารพนักงาน พ.ศ. …” ที่คณะกรรมการประกันสังคมอ้างว่า คณะทำงานกำหนดโครงสร้างการบริหารงานทุนหมุนเวียนได้ยกร่างขึ้นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนว่าด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียน วันที่ 21 สิงหาคม 2560 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 และมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2557 เป็นต้นแบบ

ขณะนี้กลุ่มพนักงานประกันสังคม ในนาม “สหภาพพนักงานประกันสังคม (สพปส.)” กำลังเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก เพราะเห็นว่าร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคม ซึ่งเดิมเคยจ้างตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารและจัดการพนักงาน พ.ศ.2540 ในประเด็น

Advertisement

1.จากการจ้างตลอดชีพ ด้วยวิธีการสรรหา บรรจุ และแต่งตั้ง เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุตัว 60 ปี เป็นการจ้างตามสัญญาจ้าง 4 ปี และอาจต่อสัญญาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

2.จากการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง และประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้าง

3.จากสาเหตุการออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ และกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นการออกจากงานเนื่องจากเลิก

Advertisement

จ้างก่อนครบสัญญา 4 ปี การไม่ต่อสัญญา การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำผิดตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง

พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์ให้การบริหารทุนหมุนเวียนมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของรัฐ

ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐที่มีกองทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 100 ทุน มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ในกรณีที่เป็นกองทุนหมุนเวียนขนาดเล็ก ที่มักขาดความมั่นคง มีวัตถุประสงค์ในระยะสั้นๆ การดำเนินการมีขอบเขตจำกัด แหล่งที่มาของรายได้ไม่แน่นอน หากยึดแนวทางตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียนฯ ก็น่าจะสมเหตุสมผล และในกรณีของกองทุนขนาดใหญ่ หากยึดแนวทางปฏิบัติเดียวกันก็ไม่ผิดหลักการ

ทว่า สำหรับกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีทุนหมุนเวียนกว่า 1.5 ล้านล้านบาทนั้น พนักงานอาจจะไม่ถูกใจ เพราะเขาก็มีสิทธิจะคิดได้ว่า ร่างข้อบังคับฯ นี้ กำลัง “เขย่า” ให้หน้าที่การงานของพวกเขาเริ่มไม่มั่นคง
ประเด็นร้อนนี้จะลงเอยอย่างไร เป็น “โจทย์” ที่คณะกรรมการประกันสังคมต้องคิด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image