“จำคุกตลอดชีวิต”แทน”ประหาร”ดีหรือ?

เป็นความพยายามของ มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมหารือแนวทางการใช้โทษ “จำคุกตลอดชีวิต” แทนโทษ “ประหารชีวิต”

โดยมีข้อเสนอแนะมากมาย

“โคทม อารียา” ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม เห็นว่า การลงโทษประหารชีวิตแม้เป็นการลงโทษที่เด็ดขาด แต่มีข้อศึกษาทางอาชญวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรม หรือป้องปรามผู้ที่จะกระทำผิดให้เกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือ

อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐาน ก็ทำให้ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้

Advertisement

ส่วน “ชุลีพร เดชขำ” ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี กสม. เผยว่าจากการเสวนาโทษประหารชีวิตในไทยที่เคยจัดมา มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต

ก่อนสรุปอย่างรวบรัดว่าควรรอให้ถึงระยะเวลาที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ก่อนจะยกเลิกโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าปัญหาอาชญากรรมนั้นมีหลากหลาย ทั้งแบบธรรมดาทั่วๆไป ลัก วิ่ง ชิง ปล้น และแบบรุนแรงป่าเถื่อน

Advertisement

“อาชญากร”เองก็มีหลายประเภท บางคนชอบกระทำผิดเป็นกมลสันดาน บางคนทำผิดเพราะความเชื่อผิดๆ
บางคนบันดาลโทสะ-อารมณ์ชั่ววูบ หรือบางคนก็เพราะจิตใจวิปริต-วิตถาร

ซึ่งคนประเภทหลังสุดถือว่า”อันตราย”! ไม่ว่าโทษจะเท่าไหร่ก็พร้อมทำผิดเสมอ

ด้วยลักษณะเหตุการณ์หลากหลายเหล่านี้ เราน่าจะคงโทษประหารชีวิต ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
เพื่อให้ศาลท่านได้ใช้ “ดุลพินิจ” พิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราก็มีการลงโทษประหารชีวิตน้อยมาก

แสดงว่าการลงโทษประหารแต่ละครั้ง ศาลท่านคงได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หลายแง่หลายมุมแล้ว

ขณะเดียวกันคนที่ต้องโทษประหารชีวิต ย่อมมีสิทธิขอลดหย่อนผ่อนโทษ ขอนิรโทษกรรม ขอพระราชทานอภัยโทษ ได้ด้วยเช่นกัน!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image