พรรคใหม่-เก่า งัดทุกกลยุทธ์ สู้เขตลด-บัตรใบเดียว”เลือกตั้ง 62″

ปี่กลองเลือกตั้งเริ่มคึกคักขึ้นมาทันที หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 โปรดเกล้าฯ และรอวันมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน

ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประกาศเขตเลือกตั้งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่พึงมีของแต่ละจังหวัด รวม 350 คน ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดในทันที

แน่นอนด้วยจำนวน เขตเลือกตั้งที่ลดลง จาก 375 เขต เหลือ 350 เขต ส่งผลให้จำนวนส.ส.ต้องลดลงตามไปด้วย 25 คน โดยจำนวนส.ส.ที่ลดลง 25 คน กระจายอยู่ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ

แยกเป็นภาคเหนือเดิมมี ส.ส. 36 คน ลดเหลือ 33 คน ลดลง 3 คน ภาคอีสานเดิมมี ส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน ลดลง 10 คน

Advertisement

ภาคกลาง เดิมมี ส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน ลดลง 6 คน ภาคใต้ เดิมมี ส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน ลดลง 3 คน และกรุงเทพมหานครเดิมมี ส.ส. 33 คน ลดเหลือ 30 คน ลดลง 3 คน

โจทย์ที่ทุกพรรคจะลงสนามเลือกตั้งปี 2562 รอคอยที่จะหาคำตอบนั้น คือ รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า กกต.จะเลือกใช้เขตการเลือกตั้งรูปแบบใด จาก 1 ใน 3 รูปแบบ จากที่ กกต.จังหวัด ส่งแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งมาให้เลือก

แน่นอนใน 23 จังหวัดที่เขตเลือกตั้งลดลง เช่น จ.นครราชสีมา เดิมมีส.ส.เขต 15 คน แต่ตามประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ จะมีส.ส.ลดลง 1 คน จะเหลือส.ส.เขตทั้งหมด 14 คน

Advertisement

การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จะต้องมีสภาพบางอำเภอที่มีพื้นที่ติดต่อกัน อาจต้องยุบรวม หรือผ่าอำเภอและตำบล เพื่อให้ได้เขตเลือกตั้ง ตามจำนวนประชากรต่อสัดส่วนของส.ส. นั่นคือ ประชากร 189,110 คนต่อ ส.ส. 1 คน
นั่นย่อมกระทบต่อฐานเสียงของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่เดิม ที่อาจต้องเจอกับสภาพ โดนผ่าเขต หรือ ยุบรวมเขต

ส่งผลให้ผู้สมัครคนนั้นๆ ต้องลงพื้นที่ทำคะแนนนิยมในพื้นที่ที่ตัวเองไม่มีฐานเสียง

แต่ละพรรคคงต้องงัดกลยุทธ์การคัดตัวผู้สมัครส.ส.ในแต่ละเขต แต่ละพื้นที่สู้กันอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อให้ส.ส.ของพรรคตัวเองโกยแต้มเข้าพรรคให้ได้มากที่สุด

เพราะด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ชี้ขาดทั้งส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ

เป็นเหมือนไฟต์บังคับให้ทุกพรรคต้องส่ง ผู้สมัครส.ส. ลงชิงชัยให้ได้ครบทั้ง 350 เขต เพราะถ้าพรรคไหนเลือกที่จะส่งชิงส.ส.ในบางเขต เขตที่ไม่ส่งเท่ากับ 0 แต้ม

แต่ใช่ว่าบางพรรคจะส่งผู้สมัครส.ส.ครบทั้ง 350 เขต จะได้คะแนนเสียง จากเขตนั้น เขตนี้ มารวมกันเพื่อแปลงเป็นเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ง่ายๆ

โดยเฉพาะพรรคใหม่ ที่ไม่ได้มี ผู้สมัครส.ส. ประเภท “ดี-เด่น-ดัง” ดีกรีระดับอดีตส.ส. มีคะแนนนิยมของตัวเอง ลงชิงชัยส.ส.ในแต่ละเขต ต้องถือว่าเป็นงานหิน

ยิ่งในพื้นที่ของแชมป์เก่า อย่างภาคอีสานและภาคเหนือ ที่มี “พรรคเพื่อไทย”(พท.) เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือในภาคใต้ และกทม.ที่มี “พรรคประชาธิปัตย์”(ปชป.) ปักธงส.ส.ไว้อยู่ โอกาสที่ผู้ท้าชิงจะคว้าชัยได้ส.ส.ในพื้นที่ดังกล่าวถือว่าไม่ใช่งานง่าย

โดยพรรคพท.วางกลยุทธ์ไว้ว่า ในเขตใดที่พรรคพท.เคยชนะคู่แข่งแบบขาดลอยในการเลือกตั้งปี 2554 จะต้องให้ผู้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 โกยแต้มทิ้งคู่แข่งในลำดับที่ 2 3 และ4 ให้ได้มากที่สุด

เพื่อให้พรรคคู่แข่งที่หวังรวบรวมคะแนนที่แพ้ในแต่ละเขต ไปคำนวนเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำได้ยากที่สุด
ส่วนเขตไหนที่พรรคพท.เป็นรอง จะต้องแพ้ให้น้อยที่สุด ยิ่งหากจะดูตัวเลขกลมๆ อัตราส่วนผลคะแนนการเลือกตั้งต่อการได้ส.ส. อยู่ที่ 70,000 คะแนน ต่อ ส.ส. 1 คน

ยิ่งพรรคไหนที่แพ้แบบขาดลอย จะต้องใช้คะแนนที่แพ้กี่เขต ถึงจะรวมเสียงกันแล้วได้ส.ส. ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ศึกเลือกตั้งปี 62 จึงเป็นอีกโจทย์หิน ที่แต่ละพรรคต้องหาสูตรแก้สมการเพื่อให้ได้คำตอบ
ส่วนใครจะคว้าชัยนั้น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 52,457,576 คน จะเป็นผู้ชี้ขาด

มติ…การเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image