เคารพสิทธิคนอื่นดีพอหรือยัง

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเจอโซเชียลจัดหนัก ทั้งด่าทั้งวิจารณ์ ภายหลังครม.ผ่านความเห็นชอบต่อ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันว่า ตีทะเบียนหมาแมว

ส่วนใหญ่ไม่พอใจ เพราะเหมือนทั้งบังคับและขู่ ด้วยค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียนหมา-แมว ตัวละประมาณ 450 บาท แบ่งเป็น คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท  สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท คนที่ฝ่าฝืนก็ต้องถูกมองว่าเลี้ยงหมา-แมว เถื่อน และยังขู่อีกหากไม่นำมาขึ้นทะเบียน จะมีโทษปรับไม่เกินตัวละ 25,000 บาท

แต่นายกฯก็ชั่งใจได้ทันทีว่าไม่ควรทวนกระแสต่อต้าน เลยสั่งให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับไปทบทวนใหม่ในส่วนของภาระค่าใช้จ่าย

ด้วยข้อเท็จจริงและยอมรับได้ว่า ตัวเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้ไม่ได้บกพร่องในแง่วัตถุประสงค์ที่ต้องการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพให้สัตว์ ตามชื่อพ.ร.บ. แต่ไม่สามารถบอกเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ว่าทำไมต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ แล้วทำไมค่าปรับสุดโหด ส่วนเงินที่ได้จากหมา-แมว ที่คาดว่าจะได้ถึงหลายพันล้าน เอาไปทำอะไรต่อ  เหตุผลที่ควรชี้แจงไปไม่สุด

Advertisement

ค่าปรับจำนวน 5 หลักอย่างนี้ เลยนึกถึงกรมการขนส่งทางบกที่ต้องถอยกราวรูดเมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เสนอปรับแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 รวมเป็น ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. ….  ที่เพิ่มโทษขับรถโดยไม่มีใบขับขี่  จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือ ขับขี่รถโดยปล่อยให้ใบขับขี่หมดอายุ หรือ ถูกพัก หรือ ถูกถอน หรือว่าถูกยึดใบขับขี่ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และขับขี่รถโดยไม่มีใบขับขี่โชว์พนักงาน ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

นายกฯ ยังไม่เห็นด้วย มองเหมือนกับชาวบ้าน  มีประโยชน์แค่ให้คนมีความรับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ

ขณะที่ในแง่ร้ายของโลกโซเชียลมองว่า ร่างกฎหมายทั้งหมา-แมว และใบขับขี่ เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้มีการปล่อยทิ้งหมา-แมว และส่งเสริมอาชีพรีดไถตามลำดับ ที่สำคัญ กฎหมายที่ต้องสุ่มเสี่ยงเหมือนจะต้อง วัดใจ ประชาชน น่าจะทำข้อเสนอความคิดเห็นให้รัดกุมดีพอเสียก่อน  ถ้ายึดหลักจะต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน และเนื่องจากเป็นของใหม่ ก็น่าจะอนุโลมให้กับหมา-แมว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่เกิดมาก่อนร่างกฎหมายฉบับนี้ ขึ้นทะเบียนฟรีไปก่อน แล้วก็สนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหนุนการติดไมโครชิปให้มากขึ้น

Advertisement

เมื่อสัตว์เลี้ยงได้ขึ้นทะเบียนแล้ว คนที่เลี้ยงก็จะได้รับรู้และเห็นข้อดีข้อเสียของการตีทะเบียน แล้วลองซาวเสียงกันอีกครั้งว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีนับล้านเห็นด้วยแค่ไหน มีข้อเห็นอย่างไร เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น ให้เห็นประโยชน์มากกว่าถูกมองว่ากำลังสร้างภาระให้คนเลี้ยง

ส่วนการจะไปเริ่มเก็บค่าตีทะเบียนให้เหมาะสมนั้น ค่อยกำหนดระยะเวลาต่อไป  คนที่คิดจะเลี้ยงสัตว์รายใหม่หรือเพิ่มจำนวนสัตว์เลี้ยงจะได้ประเมินตัวเองถูก

แต่ในเมื่อคิดที่จะบังคับเป็นกฎหมายกับคนหมู่มากทำนองนี้แล้ว ต้องอย่าให้เกิดไฟไหม้ฟางในส่วนเจ้าหน้าที่เหมือนที่ผ่านมา อาทิ การใช้ ม.44 คุมเข้มวินัยจราจร ให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งในรถทุกประเภท ดีเดย์ 5 เม.ย. 60 เจ้าหน้าที่จะจับจริง ปรับจริง ไม่เว้นแม้กระทั่งรถโดยสารอย่างรถตู้และรถแท็กซี่ ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท

ถามว่าทุกวันนี้เป็นอย่างไร ผู้โดยสารที่นั่งข้างหลังก็แทบจะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เจ้าหน้าที่ก็มีไม่พอที่จะไปส่องรถทุกคันได้ บางคันติดฟิล์มเหมือนดับไฟ หรือการที่ยังเห็นรถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศรอยู่เนืองๆ ตามไหล่ทางและบนฟุตบาธ วันไหนตำรวจไม่ยืนคุมจราจร วันนั้นก็เหมือนปล่อยผี

ส่วนหนึ่งต้องโทษประชาชนที่ยังทำผิดวินัยจราจร  ยิ่งทำด้วยความเคยชินก็แทบไม่สนใจว่าตัวเองกำลังทำร้ายตัวเองและคนอื่นๆ ว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่  ในทำนองเดียวกับการพาสัตว์เลี้ยงไปขี้เยี่ยวหน้าบ้านคนอื่นแบบลับๆ ล่อๆ หรือการที่หมาเลี้ยงหลุดไปกัดเด็กข้างบ้าน หลายเคสที่เป็นข่าวไม่ค่อยจะรับผิดชอบเท่ากับรักการเลี้ยงหมาเป็นชีวิตจิตใจ  หรือการให้ข้าวกับหมาจรจัดนอกบ้านเป็นกิจวัตร เพราะใจบุญสงสาร แต่ส่วนหนึ่งไม่ยอมเขยิบความรู้สึกว่าการกระทำเช่นนี้เสมือนเป็นเจ้าของด้วย ไม่ต้องการรับผิดชอบมากกว่าที่ทำ หากเกิดไปกัดใครเข้า  ทั้งที่รู้ว่าบางครั้งไปรบกวนสิทธิของคนข้างบ้านหรือคนในชุมชน

เรื่องของร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังเข็นออกมา ประชาชนก็มีสิทธิออกความคิดเห็นกันไป แต่กฎหมายที่มีอยู่ก่อนแล้วก็ควรต้องปฏิบัติตามด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะตกเป็นภาระหนักอึ้งของคนอื่นเหมือนกัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image