ปัญหา ‘ล้มบอล’ ปราบยังไงก็ไม่หมด

ปีที่แล้ว วงการฟุตบอลไทยมีประเด็นฮือฮาขึ้นเมื่อ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จับมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สืบสวนและปราบปรามขบวนการล้มบอลตามคำขอของ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี)

ระลอกแรกมีการแถลงข่าวพบหลักฐานคนในวงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่นักฟุตบอล ผู้ตัดสินระดับเชิ้ตดำฟีฟ่า รวมถึงผู้บริหารสโมสร นำไปสู่การจับกุมในเวลาต่อมา

พอมากลางปีนี้ อัยการก็สั่งฟ้องผู้ต้องหา 15 ราย กรณีพัวพันการล้มบอล ไทยลีก เมื่อปี 2017 แบ่งเป็นกรรมการ 2 ราย, นักฟุตบอล 8 ราย และนายทุนพนัน 5 ราย

กระบวนการล้มบอลโดยหลักๆ เริ่มต้นจากนายทุนพนันติดต่อผ่านกรรมการ เจ้าหน้าที่ หรือนักเตะเพื่อติดสินบนให้ล็อกผลการแข่งขันอย่างที่ตัวเองต้องการ หลังจากนั้นก็จะมีการติดต่อเป็นทอดๆ เพื่อหาแนวร่วม โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าวงเงินค่าตอบแทนตกคนละ 100,000-350,000 บาท แล้วแต่กรณี

Advertisement

แม้เรื่องนี้จะเป็นประเด็นฉาว และเป็นกรณีแรกของวงการฟุตบอลไทยที่มีการจับกุมอย่างเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาการล้มบอลหรือล็อกผลการแข่งขันนั้นอยู่คู่กับวงการลูกหนังโลกมายาวนานชนิดปราบปรามเท่าไรก็ยังไม่หมดไปเสียที และไม่เกี่ยวด้วยว่าจะเป็นลีกเล็กลีกใหญ่ หรือเป็นประเทศที่เจริญแล้วหรือไม่ ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังการล้มบอลอาจจะเป็นเรื่องการพนัน หรือไม่ก็ต้องการล็อกผลเพื่อผลงานในสนามก็เป็นได้

เมื่อเร็วๆ นี้ เลกิ๊ป สื่อดังฝรั่งเศส รายงานว่า ทางการฝรั่งเศสกำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าอาจมีการล้มบอลในแมตช์ใหญ่ระดับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในเกมที่ ปารีส แซงต์แชร์แมง แชมป์ลีกเอิง ถล่ม เรดสตาร์ เบลเกรด 6-1

เนื่องจากพบพิรุธว่าเจ้าหน้าที่ทีมของเรดสตาร์รายหนึ่งวางเดิมพันว่าสกอร์จะขาดถึง 5 ประตูเป็นเงินเกือบๆ 5 ล้านยูโร จนบริษัทรับพนันเอะใจและแจ้งข้อมูลกับทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)

Advertisement

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันเพิ่งมีข่าวว่าทางการเบลเยียมเตรียมตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัย 19 รายว่ามีเอี่ยวกับการล้มบอล ฟอกเงิน และคอร์รัปชั่น ในจำนวนนี้ที่โดนจับกุมแล้วเป็นเอเยนต์ 3 ราย และกรรมการระดับแนวหน้าของประเทศ 1 ราย โดยพบว่าการล้มบอลส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับทีมหนีตกชั้น ไม่ใช่บรรดาทีมดังหัวตารางที่แฟนบอลคุ้นหู

ปี 1993 โอลิมปิก มาร์เซย ทีมดังของฝรั่งเศส หัวหมอติดสินบนคู่แข่งให้ตัวเองชนะง่ายๆ เพื่อการันตีแชมป์ลีกเอิง และนักเตะไม่ต้องเหนื่อยก่อนนัดชิงยูโรเปี้ยนคัพกับเอซี มิลาน สุดท้ายพอเรื่องแดงจึงโดนริบแชมป์ตามระเบียบ

สำหรับประเทศที่มีกรณีอื้อฉาวใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งไม่พ้นอิตาลี ย้อนไปเมื่อปี 1980 เคยมีการปราบปรามขบวนการล้มบอลครั้งมโหฬารในชื่อ โตโตเนโร่ ลงเอยด้วยการลงโทษปรับตกชั้น เอซี มิลาน กับ ลาซิโอ รวมถึงแบนนักเตะหลายราย ในจำนวนนั้นคือ เปาโล รอสซี่ ที่ต่อมากลับมาลงเล่นได้อีกครั้ง และคว้าแชมป์โลกกับรางวัลบัลลงดอร์ไปครอง

ปี 2006 เกิดกรณีอื้อฉาวครั้งใหญ่อีกครั้งในชื่อ กัลโช่โปลี คราวนี้ไม่เกี่ยวกับการพนัน แต่เป็นเรื่องอิทธิพลของทีมใหญ่ที่กำหนดทิศทางของเกมด้วยการเลือกผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่แต่ละนัด ลงเอยด้วยการริบแชมป์กัลโช่ เซเรียอา ของ ยูเวนตุส 2 สมัย และปรับตกชั้น

ต่อมายังมีการปราบปรามครั้งใหญ่ในวงการฟุตบอลอิตาลีในชื่อ กัลโช่คอมเมสเซ่ คราวนี้เกี่ยวเนื่องกับการพนันโดยตรง จนมีโค้ชและนักฟุตบอลติดคุกหลายราย และพบว่าเฉพาะฤดูกาล 2010-2011 ฤดูกาลเดียว มีการล้มบอลในลีกเล็กลีกใหญ่ของอิตาลีอย่างน้อย 50 นัด

ที่น่าสนใจคือเมื่อสืบไปสืบมา ปรากฏว่าการล้มบอลใหญ่ๆ ที่ยุโรปหลายต่อหลายครั้งนั้น มีศูนย์กลางหรือศูนย์บัญชาการอยู่ในภูมิภาคเอเชียของเรานี่เอง!

อย่างกรณีของกัลโช่คอมเมสเซ่ ทางตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ระบุว่า แดน ตัน นักธุรกิจที่กบดานอยู่ในสิงคโปร์จับมือกับแก๊งอิทธิพลยุโรปตะวันออก ติดสินบนหรือขายยาเสพติดให้กับนักฟุตบอลอิตาเลียน แลกกับการล็อกผล

ด้าน เย่ เจ๋อหยุน นักธุรกิจชาวจีน โดนศาลเบลเยียมสั่งจำคุก 5 ปี เมื่อปี 2014 ในฐานะจำเลยติดสินบนนักเตะระหว่าง 5,000-40,000 ยูโร ให้ล้มบอล 18 แมตช์ แต่เย่ เจ๋อหยุน ไหวตัวทัน หนีหายเข้ากลีบเมฆไปเรียบร้อย

ขณะที่ วิลสัน ราช เปรูมาล ชาวสิงคโปร์ อดีตมือขวาของแดน ตัน มาเหนือเมฆเข้าไปอีก ด้วยการอุปโลกน์เกมเตะกระชับมิตรระดับทีมชาติปลอมๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่อ้างว่าจัดขึ้นในเอเชีย ในจำนวนนี้เป็นแมตช์ที่ซิมบับเวแพ้ 3 นัด (ทั้งที่ไม่ได้เตะ) โดยให้นักฟุตบอลและโค้ชรับสมอ้างว่าลงแข่งขันจริง ทำให้มีคนโดนแบนราว 80 ราย ส่วนเปรูมาลก็ต้องไปติดคุกที่ฟินแลนด์

แม้แต่ในอังกฤษ ถิ่นกำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่ก็ไม่พ้นเรื่องอื้อฉาว ย้อนไปไกลถึงปี 1915 ในเกม “แดงเดือด” ซึ่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะ ลิเวอร์พูล 2-0 โดยหงส์แดงยิงลูกโทษไม่เข้า

หลังจบแมตช์พบพิรุธว่ามีคนวางเดิมพันว่าสกอร์จะออกมาเป๊ะๆ เท่านี้เป็นตัวเลขมหาศาล สืบไปสืบมาจึงนำไปสู่การลงโทษแบนนักเตะแมนฯยู 3 คน และลิเวอร์พูล 4 คน

หรือถ้ายังจำกันได้ บรู๊ซ กร็อบเบลาร์ อดีตนายทวารดังของลิเวอร์พูลและเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายราย เคยโดนสื่อเมืองผู้ดีแฉว่ารับเงินใต้โต๊ะแลกกับการล้มบอลมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน

กลายเป็นว่ายิ่งลีกใหญ่หรือได้รับความนิยมยิ่งดึงดูดให้บรรดาขาพนันพร้อมจะเสี่ยง ฝ่ายปราบปรามก็ต้องสอดส่องและตามเกมให้ทัน อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง เพราะหวังจะปราบปรามให้หมดสิ้นนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image