อัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากแสนๆ ล้าน บนกระดานหมากล้อม 3 เดือน

ยิ่งใกล้เลือกตั้งของไทย ความเคลื่อนไหวยิ่งเผ็ดร้อน ทางเศรษฐกิจดูจะร้อนแรง ไม่แพ้ทางการเมือง

เห็นได้จากการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น

สั่งการ กระทรวงการคลัง เร่งออกแนวทางเพิ่มเติมดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งในกลุ่มมีรายได้น้อยต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี กว่า 4 ล้านคน และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท/ปี ประมาณ 11 ล้านคน โดยโฟกัสผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีให้มากขึ้น พร้อมไฟเขียวเพิ่มวงเงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมเท่าตัวจากเดิม 4-5 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท ขีดเส้นต้องได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือน

รวมถึงสั่งเร่งผลักดันกฎหมายคงค้างที่นำไปสู่เรื่องการเพิ่มรายได้ คือกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) นี่ก็เร่งให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง

Advertisement

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ก็สั่งปฏิรูปกระบวนการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรมทุกมิติเพื่อรองรับนโยบายปฏิรูปประเทศ เริ่มที่เลิกกระบวนการขอต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) ที่เดิมกำหนดต่ออายุทุก 5 ปี ทำให้โรงงาน 8 หมื่นรายได้ประโยชน์จากนี้ไม่ต้องต่อใบอนุญาตโรงงาน นี่แค่น้ำจิ้ม ยังจะมีการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมให้คล่องตัวและลดค่าใช้จ่ายอีกเพียบ วางเป้าให้มีผลบังคับใช้เป็นของขวัญปีใหม่ 2562 ให้ผู้ประกอบการ

กระทรวงพาณิชย์ไม่น้อยหน้า เรียกประชุมทางไกลถึงพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ สั่งภายใน 3 เดือนต้องส่งการบ้านในเรื่องแผน ให้รู้ว่าแต่ละจังหวัดมีแนวทางดูแลพืชผลเกษตรไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ เป้าพยุงรายได้เกษตรกร ให้รู้ว่าแนวทางดูแลค่าครองชีพเป็นอย่างไร ยึดเรื่องผลักดันยอดร้านค้าเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ ตามเป้า 11.4 ล้านคนให้เข้าถึงร้านธงฟ้า และให้รู้ว่าแผนงานกระตุ้นท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจฐานรากจะทำกันอย่างไร

ยังไม่รวมแนวทางผลักดันเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ให้ทุกกรมกระทรวงด้านเศรษฐกิจผนึกกำลังว่าเตรียมแผนกระตุ้นนักท่องเที่ยวนอกเข้าไทย ฟื้นยอดชาวจีนมาเที่ยวไทยอีกครั้ง และดึงเงินคนไทยเที่ยวไทยกันเอง ซึ่งสั่งการต้องส่งแผนภายในต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบเป็นของขวัญปีใหม่อีกชิ้นงาน

Advertisement

คงเหลือกระทรวงคมนาคม ว่าจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ค้างท่อให้เกิดจริงใน 3 เดือนนี้อย่างไร

ทั้งหมดทั้งมวลต่างรู้กันว่า คำสั่งเร่งไม่แค่เรื่อง “ฐานการเมือง” แต่เพราะปัญหาจ่อหน้า ต้องทำอย่างไรที่จะพยุงฐาน 3 เสาหลักเศรษฐกิจไทย ที่หนึ่งในเสาหลักคือการส่งออกเริ่มจับไข้ จากผลสงครามค้าสหรัฐกับจีน กระทบส่งออกไทยหดตัวแล้ว จึงต้องเร่งรีบพยุงเสาเศรษฐกิจอีก 2 หลัก คือการท่องเที่ยว ที่ยังเจอพายุไม่แพ้การส่งออก

ความหวังใกล้ตัวสุดคือต้องพึ่งพาตนเองให้มากสุด โดยทำอย่างไรก็ได้เพื่อกระตุ้นใช้จ่ายและบริโภคในประเทศ และยังได้ใจฐานรากเข้ามาเป็นพวก รวมถึงล้างคำเศรษฐกิจดีแค่กระจุกเดียว
ฝ่ายรุก ทั้ง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรืออภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เดินกันไปตามเกมกระดานหมาก

แว่วว่าทีเด็ดทีมเศรษฐกิจ “บิ๊กตู่” ยังไม่ได้เทหมดหน้าตัก

ให้ลุ้นต่อฝ่ายหนุน (ทางวิชาการ) อย่าง กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในทีมพลังประชารัฐ

จะว่าอย่างไร!!!

นวลนิตย์ บัวด้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image