นิวส์รูมวิเคราะห์ : ‘เจ้าสัววิชัย’ และมรดก ‘บรรทัดฐาน’ ประธานสโมสรกีฬาอาชีพ

การเสียชีวิตของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกตลอดเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ติดตามข่าวสารความสูญเสียจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกข้างสนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม อย่างใกล้ชิด เพราะที่อังกฤษเองซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะที่เจ้าสัววิชัยเป็นเจ้าของและประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องราวครั้งนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุ สังคมทวิตเตอร์ของแฟนบอลอังกฤษ โดยเฉพาะชาวเมืองเลสเตอร์เต็มไปด้วยความตื่นตระหนก หลายคนพยายามตามอัพเดทข้อมูลแบบนาทีต่อนาที บ้างบอกว่าไม่สามารถข่มตานอนได้ถ้ายังไม่มีความชัดเจนเรื่องความปลอดภัยของคนบนเครื่อง

สุดท้ายเมื่อยืนยันการเสียชีวิตของทั้งผู้โดยสารรวมนักบิน 5 รายในเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายวิชัย บรรยากาศทั้งในชีวิตจริง ในโลกออนไลน์ และตามสื่อต่างๆ ของอังกฤษ ก็เต็มไปด้วยความโศกเศร้า

Advertisement

ชาวเมืองเลสเตอร์หลั่งไหลไปวางดอกไม้ ผ้าพันคอ เสื้อ ฯลฯ เพื่อไว้อาลัยให้เจ้าสัววิชัย แม้แต่แฟนบอลทีมอื่นๆ โดยเฉพาะทีมที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่ปรับสำคัญของเลสเตอร์อย่าง น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ กับ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ก็ยังลืมเรื่องความขัดแย้ง ไปแสดงความเคารพด้วยเช่นกัน

ด้านสื่อและบรรดากูรูลูกหนังต่างยกย่องในคุณูปการที่เจ้าสัววิชัยทำให้สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และเมืองเลสเตอร์โดยรวม ขณะที่แฟนบอลของหลายๆ ทีมบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า อิจฉา และอยากให้ประธานสโมสรของตัวเองเป็นอย่างเจ้าสัวบ้าง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังโศกนาฏกรรมของวงการฟุตบอลอังกฤษในครั้งนี้ ทำให้แฟนบอลหรือแม้แต่แฟนกีฬาอื่นๆ ทั่วโลกได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานของเจ้าสัววิชัยตั้งแต่เข้าไปเทกโอเวอร์ทีมสุนัขจิ้งจอกเมื่อปี 2010 กลายเป็นเสียงชื่นชมและขณะเดียวกันก็กลายเป็น “บรรทัดฐาน” ของประธานหรือเจ้าของทีมกีฬาอาชีพที่อาจจะถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับประธานหรือเจ้าของทีมคนอื่นๆ ไปอีกนาน

Advertisement

เจ้าสัววิชัยมีลักษณะการบริหารทีมในแบบประธานหรือเจ้าของสโมสรฟุตบอลยุคเก่า ซึ่งโดยมากมักเป็นนักธุรกิจที่เกิดและเติบโตในท้องถิ่น จึงมีความผูกพันกับชุมชนค่อนข้างสูง เมื่อรวมกับนิสัยเอื้อเฟื้อแบบไทยๆ และความเป็นคนใจกว้างสไตล์นักธุรกิจใหญ่ ยิ่งเข้าถึงใจคนในชุมชนมากยิ่งขึ้นแม้จะเป็นชาวต่างชาติก็ตาม

ช่วงที่เข้าไปเทกโอเวอร์สโมสรใหม่ๆ ชาวเมืองเลสเตอร์ไม่ต่างกับแฟนบอลของหลายๆ ทีมเวลามหาเศรษฐีต่างชาติเข้าไปถือหุ้นใหญ่ของสโมสร คือกลัวอนาคตที่ไม่แน่นอน นอกจากจะไม่พอใจเรื่องเสียศักดิ์ศรีที่โดนคนนอกเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ใหญ่แล้ว ยังหวั่นว่าทีมรักของตัวเองจะกลายเป็นแค่ของเล่นคนรวย หรือมีสถานะแค่ทรัพย์สินที่เอามาเก็งกำไรกัน ไม่ได้จะทุ่มเทให้อย่างจริงใจ

เจ้าสัวค่อยๆ ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ตั้งแต่เข้าไปยกเครื่องการบริหารงาน เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อความคล่องตัว สะสางหนี้สิน มอบทุนในการสร้างทีม ปรับปรุงสนามซ้อม ปรับปรุงสนามแข่ง ช่วยให้ทีมค่อยๆ ไต่เต้าจากลีกล่างสู่ลีกสูงสุด

แฟนเลสเตอร์หลายคนบอกว่า การคว้าแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพในฤดูกาล 2013-14 ซึ่งเป็นแชมป์ลีกระดับดิวิชั่น 2 ของอังกฤษครั้งแรกในรอบ 34 ปีว่าสุดยอดแล้ว การไปถึงแชมป์พรีเมียร์ลีก ในอีก 2 ฤดูกาลถัดมากล่าวได้ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” ที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตนี้

ก่อนแข่ง บ่อนพนันถูกกฎหมายของเมืองผู้ดีให้อัตราต่อรองการเป็นแชมป์ของเลสเตอร์ (ที่เพิ่งหนีตายได้หวุดหวิดในฤดูกาลก่อนหน้านั้น) อยู่ที่ 5000-1 ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ความสำเร็จของเลสเตอร์ยิ่งเพิ่มดีกรีความเหลือเชื่อมากยิ่งขึ้น แม้แต่ฝั่งอเมริกาที่ไม่ค่อยใส่ใจในกีฬา “ซอคเกอร์” ก็ยังเอาไปโจษจัน

ความสำเร็จในครั้งนั้นได้รับการจารึกว่าเป็นเทพนิยายที่เหลือเชื่อที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กีฬาโลก และนอกเหนือจากนักเตะรวมถึงกุนซือ เคลาดิโอ รานิเอรี่ แล้ว คนที่ใครๆ ก็ให้เครดิตมากที่สุดก็คือนักธุรกิจชาวไทยที่ชื่อ วิชัย ศรีวัฒนประภา นั่นเอง

แฟนเลสเตอร์บอกว่า เจ้าสัวทำให้ชื่อของเลสเตอร์ ซิตี้ และเมืองเลสเตอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการปักหมุดลงบนแผนที่กีฬาโลก จากเดิมที่คนเห็นชื่อ “Leicester” ยังอ่านแบบงงๆ ว่า “เล-เชส-เตอร์” แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้กันว่าต้องอ่านอย่างไร แบบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เจ้าสัววิชัยเป็นที่รักของชาวเมืองไม่ใช่แค่การทำให้เมืองนี้ สโมสรนี้ มีตัวตนขึ้นมาในสายตาชาวโลก แต่ยังมาจาก “น้ำใจ” ที่เขาหยิบยื่นให้กับชุมชนเมืองเลสเตอร์โดยองค์รวม

เจ้าสัวบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยประจำเมือง และโรงพยาบาลในท้องถิ่น 2 แห่ง เป็นตัวเลข 1-2 ล้านปอนด์สำหรับแต่ละแห่ง อีกทั้งยังตั้งมูลนิธิเลสเตอร์ ซิตี้ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา) เพื่อสนับสนุนองค์กรการกุศลในท้องที่

เวลาถึงวาระสำคัญๆ อย่างวันเกิดของเจ้าสัว สโมสรก็จะเลี้ยงแซนด์วิช โดนัท และเบียร์ให้กับแฟนๆ ฟรีๆ ถ้าต้องไปเตะเกมเยือน ก็จะจัดรถบัสพร้อมอาหารเช้าบริการที่สนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม ปีล่าสุดก็เพิ่งแจกตั๋วปีให้กับแฟนเก่าแก่หรือแฟนผู้โชคดีเป็นจำนวนกว่า 60 ใบ

ยังมีสิ่งละอันพันละน้อยอีกมากมายที่แฟนบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เล่าผ่านประสบการณ์ตรงของตัวเองจากที่ได้เจอกับเจ้าสัววิชัยสมัยยังมีชีวิตอยู่

อลัน เบิร์ชนอลล์ ตำนานและทูตสโมสรเล่าว่า ตอนที่เขาล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันเมื่อต้นปี 2017 จนต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน เจ้าสัวได้จัดแม่บ้านมาช่วยดูแลทำความสะอาดบ้านเพื่อไม่ให้เขากังวลใจ และยังจ้างลูกชายของเบิร์ชนอลล์เป็นเจ้าหน้าที่สโมสร ทำหน้าที่ขับรถพาพ่อไปทำธุระตามที่ต่างๆ เพื่อให้ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

ชายคนหนึ่งเล่าว่า เขาเสียภรรยากับลูกชาย 2 คนไปในอุบัติเหตุระเบิดและไฟไหม้ที่แฟลตในตัวเมือง ตอนที่สิ้นเนื้อประดาตัวและจมอยู่ในความโศกเศร้า เจ้าสัวก็อนุญาตให้ใช้พื้นที่โถงของสนามคิงเพาเวอร์ในการจัดพิธีรำลึกถึงครอบครัวที่เพิ่งจากไป ทำให้รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก

หลายคนชอบเจ้าสัวตรงที่เคารพธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติที่ยาวนานของทีม ไม่เหมือนเจ้าของชาวต่างชาติบางคนที่พอเทกโอเวอร์ปุ๊บก็บอกให้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สีประจำทีม ตราประจำทีม ในทางตรงข้าม เจ้าสัววิชัยจะยังคงยึดหลักปฏิบัติ แต่เพิ่มเติมในส่วนความเชื่อของตัวเอง หรือปรับปรุงบางอย่างที่คิดว่าจะเป็นไปในทางบวก

แฟนบอลเวสต์แฮมรายหนึ่งเล่าว่า ฤดูกาลที่แล้ว เจ้าสัวเดินทางไปชมเกมระหว่างเลสเตอร์กับทีมขุนค้อนที่ลอนดอน แต่ทางผู้บริหารของเวสต์แฮมไม่ยอมอนุญาตให้เจ้าสัวนั่งในบ๊อกซ์วีไอพี เขาก็ไม่ได้โกรธหรือเดินทางกลับด้วยความไม่พอใจ แต่ซื้อตั๋วเข้าไปนั่งปะปนกับแฟนบอลบนอัฒจันทร์อย่างเป็นกันเอง

ภาพจำของนักธุรกิจใหญ่เจ้าของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ในมุมมองของชาวเลสเตอร์ส่วนใหญ่คือชายร่างเล็กที่พูดไม่ค่อยเก่ง แต่มีรอยยิ้มพิมพ์ใจ และมักโบกมือทักทายแฟนๆ อย่างเป็นกันเอง

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสโมสรกับชุมชนดังกล่าวทำให้เมืองเลสเตอร์กลายเป็นเหมือนครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งใครหลายๆ คนมองว่าเจ้าสัววิชัยเปรียบได้กับหัวหน้าครอบครัว การสูญเสียครั้งนี้จึงสะเทือนใจชาวเลสเตอร์อยู่มากเพราะไม่ต่างจากการสูญเสียคนสำคัญในครอบครัวไป

และสำหรับคนนอกแล้ว นี่เป็นการสูญเสียประธานและเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการลูกหนัง

ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่อาจถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับเจ้าของทีมคนอื่นๆ หรือรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image