สู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่ “ไฟใต้”  

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีกพื้นหนึ่งที่เหล่าพรรคการเมืองกำลังโรมรัมในการสู้ศึกเลือกตั้ง 2562 ต่างต้องการ “เข้าถึง” พร้อมนำ “ปัญหา” ไปสู่การปั้น “นโยบาย” ลงสู่ “การปฏิบัติ” อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะ “บรรลุ” เข้าถึงพี่น้องในพื้นที่ “พหุวัฒนธรรม” ที่นับถือศาสนาอิสลามเฉลี่ย 75-80% รองลงมาเป็นชาวพุทธ และศาสนาอื่นๆ

เมื่อดูการใช้สิทธิโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เมื่อ 7 ส.ค.2559 ของ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” ต่อร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 3 จังหวัดจาก 23 จังหวัดไม่เออออด้วย

ปัตตานี มีผู้ใช้สิทธิ 62.24% เห็นด้วย 89,952 คะแนน (35.02%)  ไม่เห็นด้วย 166,900 คะแนน (64.98%)

นราธิวาส มีผู้ใช้สิทธิ 66.10% เห็นด้วย 109,348 คะแนน (36.04%) ไม่เห็นด้วย 194,020 คะแนน (63.96%)

Advertisement

ยะลา มีผู้ใช้สิทธิ 65.47% เห็นด้วย 81,759 คะแนน (39.93%) ไม่เห็นด้วย 122,988 คะแนน (60.07%)

หากพ่วงผลประชามติ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อันเป็นพื้นที่กระทบต่อความมั่นคงตามมติครม.เมื่อ 22 พ.ย.2559 ด้วยแล้ว “อำเภอจะนะ” เห็นด้วย 32,749 (65.95%) ไม่เห็นด้วย 16,911 (34.05%), นาทวี” เห็นด้วย 24,474 (77.20%) ไม่เห็นด้วย 7,228 (22.80 %), เทพา” เห็นด้วย 22,688 (66.27%) ไม่เห็นด้วย 11,540 (33.73 %) และ “สะบ้าย้อย” เห็นด้วย 16,463 (53.55%) ไม่เห็นด้วย 14,282 (46.45 %)

เป็น 4 อำเภอที่เปอร์เซนต์ “เห็นด้วย” ต่ำกว่าอีก 12 อำเภอที่้เหลือของสงขลาพอสมควร ที่อยู่ระหว่าง 85-90 % อย่างมีนัยยะ

Advertisement

นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า กระแสที่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการจุดประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางศาสนาของมาตรา 67 ในร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมาตรา 67 ไว้ทุกคำ ส่วนอีกเหตุผลที่ “ไม่เห็นด้วย” เยอะกว่า มาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.ที่ต้องดีลความยุติธรรม ความเชื่อใจและเข้าใจ ของคนในพื้นที่เหล่านี้ ต้องตกอยู่ในการกำกับของ กอ.รมน. ตามโครงสร้างใหม่ที่เป็นคำสั่งของหัวหน้า คสช.

วันนี้ น่าจะเป็นคำตอบที่พรรคการเมืองเอาไปคิดต่อ จะดูแลพื้นที่ “พหุวัฒนธรรม” อย่างไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.เคยมีบทบาทสร้างความสมดุลย์เป็นที่ยอมรับและสัมผัสได้ของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม บอกว่า รัฐธรรมนูญการปกครองในหมวดการปกครองท้องถิ่นบัญญัติไว้ว่า การปกครองรูปแบบใดต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่นนั้น แต่พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรูปแบบพิเศษทั้งกฎหมายและองค์กรในการแก้ปัญหาพิเศษ

“สำหรับ ศอ.บต.แล้ว ควรปฏิรูปหรือทบทวนให้เป็นหน่วยงานที่มีเอกภาพในการพัฒนาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ให้เกิดความคล่องตัว แก้ปัญหาทันท่วงที การเลือกตั้งสภาศอ.บต. หรือสภาที่ปรึกษาเดิมที่มีตัวแทนเป็นพหุวัฒนธรรม อาจจะให้สภาศอ.บต.มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือสรรหาผู้ที่จะมาเป็น เลขาฯศอ.บต. ที่ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นต้น”

สอดคล้องกับวันเปิดตัวพรรคประชาชาติ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเร็วๆนี้ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า การจะแก้ความขัดแย้งต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามความเป็นจริง การให้อภัยเป็นเรื่องสำคัญ ต้องจริงจังกับการสร้างสันติภาพที่มาจากการพูดคุยต่อไป

“พุทธต้องอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ได้อย่างพุทธ มุสลิมต้องอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม มันมีหลายรูปแบบ เราเชื่อว่าต้องกระจายอำนาจ” 

สมทบกับ วันมูฮัมมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ยืนยันว่า “การทำให้ ความมั่นคง กับ ความสุข ของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน”

หากทำให้เกิดขึ้นได้ นับว่าน่าสนใจน่าติดตามทีเดียว…

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image