นิวส์รูมวิเคราะห์ : ถือหุ้นสื่อ

ประเด็นเรื่องการถือหุ้นสื่อบานปลายกลายเป็นการร้องเรียนกล่าวหาผู้สมัคร และว่าที่ ส.ส. กันยกใหญ่

ประเด็นนี้บานปลายกลายเป็นความเกรงกลัวว่าจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ประเด็นนี้นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เคยออกมาแถลงข่าวหลายครั้ง อธิบายตัวบทกฎหมายกันหลายหน

แต่ดูเหมือนว่าความกลัวก็ยังมีอยู่

Advertisement

เพราะอะไร ?

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ใช้คำว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ในกิจการที่เป็นสื่อสารมวลชน”

อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “กิจการ” นั้น คาดว่าน่าจะเป็นคนละอย่างกับคำว่าบริษัทหรือนิติบุคคล

Advertisement

และในความเป็นจริง คนที่ไปถือหุ้น ก็ไม่รู้ว่าบริษัทนั้นมีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง

นายวิษณุ บอกว่า จะมีบางรายที่ในวัตถุประสงค์ตามแบบมาตรฐานนั้นไม่มี แต่เขาเขียนเติมลงไปเองว่าประกอบกิจการสื่อมวลชน จึงมองได้ว่าตั้งใจที่จะทำการนั้น

แต่ถ้าเป็นรายอื่นที่ถือหุ้นธรรมดาในบริษัท แล้ววัตถุประสงค์ไม่ได้เขียนเติมไป แต่เป็นไปตามแบบมาตรฐาน

ยังรู้สึกเห็นใจว่าไม่น่าจะเข้าข่าย

หากการถือหุ้นสื่อตามความเห็นของนายวิษณุก็จะผ่อนกฎเหล็กให้คลี่คลายลงมาหน่อย

จากเดิมที่มองกันว่า ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ เปลี่ยนมาเป็นดูว่าไปจดเพิ่มหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว ยังมีความเห็นอื่น ๆ เพิ่มเติมโดยมีมิติของการ “ทำกิจการสื่ออยู่จริงหรือไม่” ด้วย

เปรียบเทียบระหว่าง ว่าที่ ส.ส. ที่เกี่ยวพันกับกิจการสื่อ แต่ไม่ได้มีหุ้น กับ ว่าที่ ส.ส.ที่ถือหุ้นบริษัทที่จดวัตถุประสงค์ทำสื่อ แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ทำ

เช่นนี้ ว่าที่ ส.ส. คนไหนที่เข้าเจตนาของกฎหมายมากกว่ากัน

สรุปได้ว่า มาตรา 108 รัฐธรรมนูญนั้น คำว่า “กิจการ” หมายรวมไปถึงทุกอย่างที่อยู่ในวัตถุประสงค์ไม่ว่าจะมีธุรกิจนั้นจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม หรือหากธุรกิจสื่อเลิกไปแล้ว หรือยังไม่ได้ทำ ถือว่าไม่เกี่ยว

อันนี้เริ่มเป็นการใช้ดุลพินิจ

ประเด็น ส.ส.ถือหุ้นสื่อขณะนี้หลายคนได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณามาแล้ว โดยนายวิษณุระบุว่า มีทั้งกรณีที่ขาดคุณสมบัติ และไม่ขาดคุณสมบัติ

กรณีของ กกต. นั้น ได้เรียกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มาแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว แม้ว่านายธนาธรจะแจงว่า โอนหุ้นก่อนวันสมัครเลือกตั้ง

ส่วนคำร้องอื่น ๆ ที่ทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. ยังต้องรอดูการพิจารณา

ทุก ๆ การพิจารณานั้นน่าสนใจ

การใช้ดุลพินิจในประเด็นนี้น่าติดตาม เพื่อนำมาสรุปว่า “อะไรที่ทำได้” และ “อะไรที่ทำไม่ได้”

ดีกว่าจะตกเป็นขี้ปากถูกครหาว่า ไม่ใช่เรื่องอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้หรอก

แต่เป็นเรื่องที่ “คนนี้ทำได้” แต่ “คนนั้นทำไม่ได้”

พรรคนี้ทำไม่ได้ แต่ พรรคนั้นทำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image