ฉากสุดท้าย มหาซีรีส์โกง กองทุนเด็กตกเขียว 77 ล.

ใกล้ปิดฉากมหากาพย์โกงกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ทุจริตกันมายาวนานถึง 10 ปี ระหว่างปี 2548-2561

กองทุนเสมาฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีหรือกลุ่มเด็กตกเขียว โดยสนับสนุนนักเรียนหญิงตั้งแต่ม.1 จนถึงปริญญาตรีให้เรียนพยาบาล และช่วยเหลือเด็กยากจน
แต่น่าเศร้าใจคนที่โกงกลับเป็นข้าราชการที่ดูแลกองทุนนั่นเองซึ่งตอนนี้ถูกศธ. “ไล่ออกจากราชการ” ไปแล้ว

นอกจากศธ.จะสั่งไล่ออกราชการ นางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) อดีตผู้ดูแลกองทุนเสมาฯ พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) รับไม้ต่อแล้ว

ยังส่ง 44 รายชื่อที่เป็นเจ้าของบัญชี ให้ป.ป.ท.ตรวจสอบเชิงลึกด้วย ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่มีความถี่ในการโอนเงินกองทุนเสมาฯ คือ นางรจนา และเครือญาติ 2.กลุ่มเพื่อนสมัยเรียนปริญญาโทของนางรจนา 3.กลุ่มนักเรียนทุนที่ใกล้ชิดนางรจนา และนางรจนาอาศัยพึ่งพา มีการหยิบยืมเงิน และยอมให้บัญชีตัวเองกับนางรจนาเพื่อทำธุรกรรม และ 4 .กลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับมูลนิธิบางแห่ง เงินที่โอนเข้าบัญชีเจ้าของมูลนิธิ และเป็นมูลนิธิที่เคยทำกิจกรรมกับศธ.ด้วย

Advertisement

ตลอด 10 ปีมีการโอนเงินกว่า 1,000 รายการ เป็นเงินรวม 240,173,163 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่โอนถูกต้อง 134,425,281 บาท คิดเป็น 56% แบ่งเป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จำนวน 41 แห่ง เป็นเงิน 70,387,423 บาท สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด(กศน.จังหวัด) 3 แห่ง เป็นเงิน 7,572,588 บาท และวิทยาลัยพยาบาล 26 แห่ง เป็นเงิน 56,465,270 บาท

นอกนั้นเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการโอนอ้อมหรือการหมุนเงิน ตัวเลขความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ 77,340,907 บาท

เท่ากับว่า ตัวเลขความเสียหายที่ก่อนหน้านี้แจ้งว่า 41 กว่าล้านนั้น ไม่ใช่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นมาเป็น 77 ล้าน ใกล้เคียงกับวันแรกที่ศธ.เปิดประเด็น 88 กว่าล้านบาท!!

Advertisement

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เข้าพบนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการศธ. ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีการพูดคุยกันว่าบัญชีผู้รับโอนและผู้โอนในช่วง 10 ปีกว่า 1,000 รายการนั้น ในจำนวนนี้มี 68 บัญชีที่ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเป็นบัญชีของใคร ธนาคารแจ้งว่าติดขัดด้านกฎหมายจึงไม่สามารถส่งมอบข้อมูลให้ศธ.ได้ ซึ่งศธ.ไม่ติดใจที่ธนาคารจะแจ้งข้อมูลให้ป.ป.ท.โดยตรง แต่ติดใจตรงที่ “ตั้งแต่ปี 2548-2559 การโอนเงินไม่ได้พิมพ์ชื่อบัญชี พิมพ์เฉพาะเลขที่บัญชีอย่างเดียวมาตลอด ซึ่งทางธนาคารก็โอนเงินเข้าบัญชีได้ตามปกติ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นบัญชีของจริงหรือของปลอม แต่ปี 2560 มีการโอนจากศธ. 2 ครั้งมีการพิมพ์ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีครบถ้วน เพียงแต่เลขที่บัญชีที่ส่งให้ทั้ง 2 ครั้ง เป็นบัญชีปลอมหลายรายการ แต่ทางธนาคารกรุงไทยซึ่งใช้ระบบจีโร่ในการโอนเงิน ก็ยังอนุมัติการโอนเลขที่บัญชีปลอมไปเช่นเดิม”

ธนาคารกรุงไทย ตอบรับจะรับเรื่องนี้ไปตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ขณะที่นายอรรถพลพูดชวนให้คิดว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยน่าจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดข้อผิดพลาดในการโอนดังกล่าว!!

วันถัดมาธนาคารกรุงไทย ออกแถลงการณ์ปฏิเสธทันทีว่า “ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวโยงธนาคารในเรื่องการทุจริต”

สังคมเกิดคำถามว่าเป็นการด่วนปฏิเสธเร็วเกินไปหรือไม่ ทำไมไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนจะออกมาปฏิเสธ นอกจากไม่ช่วยให้สังคมหายคลางแคลงแล้ว จึงเกิดคำถามขึ้นว่าธนาคารกรุงไทยจริงใจแค่ไหนที่จะตรวจสอบปัญหาโกงกองทุนเสมาฯ ?!?

คำตอบคงต้องรอฟังป.ป.ท.ว่างานนี้ธนาคารกรุงไทย จะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อย่างไร?!?!

บทเรียนของมหากาพย์โกงยาวนานถึง 10 ปี คือความหละหลวมของระบบตรวจสอบ มีการปลอมและสอดแทรกเลขที่บัญชีธนาคารที่ไม่เกี่ยวข้อง การปลอมเลขที่บัญชีธนาคารแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เช่น นำเลขที่บัญชีบุคคลภายนอกแทรกเข้าไป นำบัญชีของสถานศึกษามาสลับเพื่อให้เงินหมุนวน การเบิกเงินซ้ำซ้อน และเบิกก่อนกำหนดโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งทุกครั้ง มีการโกงเกิดขึ้น!!

เบื้องต้นพบขบวนการร่วมโกงไม่ต่ำกว่า 10 คนซึ่งข้อมูลที่ชัดเจนประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ จะนำเสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้

เป็นอีกเรื่องที่พิสูจน์ว่ากระทรวงศึกษาฯ เต็มไปด้วยพวก “เหลือบริ้นไร” ที่ขจัดเท่าไรก็ไม่สิ้นซากสักที!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image