ทัศนคติอันตราย : ‘คอร์รัปชั่น-พลังดูด’ เป็นเรื่องธรรมชาติ

ในทางรัฐศาสตร์มีอยู่คำหนึ่ง มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

“ประชาชนเป็นอย่างไร ก็ได้รัฐบาลอย่างนั้น”

อธิบายธรรมชาติระบอบประชาธิปไตย เน้นย้ำอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

พวกเขาออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกคนที่คิดว่า “ใช่” เป็นตัวแทนทำหน้าที่นิติบัญญัติ

Advertisement

ใครมีเสียงข้างมากได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ความรับผิดชอบขั้นต้นของระบบนี้ จึงตกอยู่กับพลเมืองของประเทศนั้น

กรองแล้วได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ ก็นำพาประเทศก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ประชาชนพลอยอยู่ดีมีสุข

Advertisement

เลือกผิดชีวิตกลับด้าน รัฐบาลห่วย ลุแก่อำนาจ มือไม่ถึง นำประเทศดิ่งลงเหว ต้องรับผลตัดสินใจ “พลาดไปแล้ว” ครบเทอมเมื่อไหร่ หรือมีอุบัติเหตุให้เลือกตั้งกันใหม่ ได้โอกาสแก้ตัวกันอีกครั้ง

ทนขมขื่นบ้าง เพราะ “เราเลือกกับมือของเราเอง”

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องต้องให้เวลาทำหน้าที่ ผู้คนต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เพื่อเลือกสิ่งดีกว่าในที่สุด

บ้านเราโชคร้ายสักหน่อย แทนที่จะค่อยๆ “ปะผุ” ให้เข้ารูปเข้ารอย ก็โดนปฏิวัติรัฐประหารตัดตอนถูกทำโทษซ้ำชั้นอยู่เรื่อย

เราเลยย่ำต๊อกที่มัธยม ไปไม่ถึงมหาวิทยาลัยเสียที

ตัวอย่างสิ่งชำรุดจากการถูกเว้นวรรค ส่วนหนึ่งอาจอธิบายด้วยผลสำรวจสวนดุสิตโพลเมื่อ 2 – 3 วันก่อน

สอบถามความเห็นกลุ่มตัวอย่าง คิดอย่างไรกับกระแสดูด ส.ส.

ผลลัพธ์กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 50.94% เห็นว่าเป็นเรื่องปกติการเมืองไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น

อีกร้อยละ 44.21 บอกว่าไม่ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะมีกันมานาน เคยเกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมักจะมีการย้ายพรรค นักการเมืองมีสิทธิจะเลือก เป็นความสมัครใจ

เหมือนยอมรับทั้งรู้มี “ข้อเสีย” กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 54.36 ก็มองเห็น “ดูด” ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกัน

ไม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญ หรือบ้านเรามีทัศนะอย่างนี้เป็นทุน ผลโพลไปสอดคล้องกับผู้นำรัฐบาลทั้งที่มาจากอีกด้านของระบบ

นายกฯประยุทธ์คิดดังๆผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่าด้วยเรื่อง “ดูด” เป็นความปกติ ทำนองว่าทุกพรรคการเมืองทำมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา

น่าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่าง “ดูด” กับ “ย้าย” อาจมี “ปลายทาง”เหมือนกัน แต่ก็ต่างกัน “ระหว่างทาง”

หากเหตุผล “ย้าย” ไปไหลรวมกับอีกพรรคการเมือง เกิดจากหลักการ แนวความคิด

ความเชื่อในอุดมการณ์เดียวกัน คงไม่ใช่เรื่องผิดบาป ก็เคมีมันตรงกัน

แต่เรื่อง “ดูด” ชื่อก็บอกต้องมีการปล่อยพลัง ยิ่งไม่ถูกต้องหากใช้อำนาจเข้าไป กดดัน ข่มขู่ สกัดกั้น หรือให้ตำแหน่งแห่งหนล่อใจ ยิ่งคนละเรื่องเดียวกัน

ไม่กี่ปีมานี้ มีผลสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล คำตอบเล่นเอาตกใจ

ส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าทุจริตแล้วตัวเอง(ผู้ตอบคำถาม)ได้ประโยชน์มาแบ่งกันบ้าง เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้

จนทุกวันนี้สารพัดเงินทอน สารพัดโกงในหน่วยราชการ ผุดราวดอกเห็ดกลางฤดูฝนฉ่ำ

แล้ววันนี้ “พลังดูด” กลายเป็น“ครรลอง”ประชาธิปไตยไทย

“เรา” จะเอาอย่างนั้นเหรอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image