เลนเชนจ์ คุมเข้มวินัยจราจร “จอมปาด-จอมเบียด” นิสัยไม่เปลี่ยนก็ไร้ผล

ภาพประกอบ

ดีเดย์มาตั้งแต่9 พ.ค.ที่ผ่านมา กับมาตรการล่าสุดที่ ทางกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) เริ่มใช้ระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องเดินรถ หรือ “กล้องเลนเชนจ์” ในเขตห้าม 15 จุด ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อกวดขันวินัยการจราจร

15 จุดที่ติดตั้งกล้องเป็นสะพานข้ามทางแยก 12 จุด และอีก 3 ทางแยก ส่วนใหญ่น่าจะทราบกันแล้วว่ามีจุดไหนบ้าง เช่น สะพานข้ามแยกบางเขน ถนนงามวงศ์วาน ขาออก. สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก. ทางลอดแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดง ขาเข้า สะพานศิริราชด้านถนนอรุณอมรินทร์ ถนนอรุณอมรินทร์ ขาออก แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออก เป็นต้น

การตั้งกล้องเลนเชนจ์หวังจะลดพวกจอมปาด จอมเบียด ทำให้การทำผิดกฎจราจรน้อยลง แต่ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ได้ผลมากนักเมื่อประเมินจากสถิติล่าสุด 4 วันตั้งแต่วันที่ 9-13 พ.ค.ที่ทางบก.จร.ได้แถลงตัวเลขออกมา

พบคนกระทำผิดกฎจราจรมากถึง 96,830 ราย ในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์มากที่สุด  รองลงมาเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหรือรถเก๋ง  ส่วนจุดที่มีผู้ฝ่าฝืนมากเป็น อันดับ 1 แยกสามเหลี่ยมดินแดง จำนวน 11,307 ราย  อันดับ 2 คือ สะพานศิริราชด้านอรุณอัมรินทร์  10,932 ราย และ อันดับ 3 บริเวณทางลอดแยกห้วยขวาง  10,713 ราย

Advertisement

แค่4วันก็ปาเข้าไปเฉียดแสน จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าจำนวนคนทำผิดกฎจราจรใน15จุดต้องเพิ่มทวีคูณกว่านี้อีกแน่นอน

สาเหตุหลักๆที่ทำให้คนไม่หวั่นเกรงเป็นที่รู้กันมานานนมแล้วว่าปัญหาหลักคือ การไม่เชื่อมต่อกับระบบของกรมการขนส่งที่จะมีผลในการต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ประจำปี  เมื่อไม่เชื่อมต่อจอมปาด จอมเบียดก็ไม่หวั่นเกรงเมื่อใบสั่งส่งถึงบ้านไม่จ่ายค่าปรับเสียอย่างก็ไม่มีผลอะไร

ปัญหาดังกล่าวทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) น่าจะทราบดีอยู่แล้ว  และพยายามเข้ามาแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว
ในช่วงปลายปี 60 ที่ผ่านมา เริ่มนำร่องใช้ “ใบสั่งแบบใหม่ที่มีบาร์โค้ด(PTM)” ที่จะเชื่อมระบบคอมพิวเตอร์และเชื่อมข้อมูลกรมการขนส่งทางบก หากผู้ขับขี่ที่เจอใบสั่ง ไม่ชำระภายในกำหนด จะมีใบแจ้งเตือนให้มาชำระภายใน 30 วัน และจะส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งเพื่อขอดำเนินการงดออกเครื่องหมายแสดงภาษี จนกว่าจะชำระค่าปรับเสร็จสิ้น

Advertisement

ขณะที่ปัจจุบันผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว การเชื่อมต่อระบบของตร.กับกรมการขนส่งทางบกยังไม่แล้วเสร็จ พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รอง ผบก.จร. ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ จะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้

ทั้งนี้คาดหวังว่าเมื่อระบบข้อมูลของทั้ง 2 หน่วยงานสามารถ เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์น่าจะทำให้การทำผิดกฎจราจรลดลงได้ อุบัติเหตุบนท้องถนนก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน

ทั้งระบบกล้องเลนเชนจ์ตรวจจับคนทำผิดกฎจราจรและอีกสารพัดมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงมาตรการป้องปรามเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องรู้จักปรับเปลี่ยนนิสัยพฤติกรรม รู้จักเคารพกฎวินัยจราจร  แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image