คำสั่งคสช. ทำปฏิรูปศึกษาสะดุด?? 

ความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) กับศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ที่ดูนิ่งๆ มาตลอด 5 เดือน แท้จริงแล้วกำลังรอวันปะทุ ไม่ต่างจากสำนวน “ก่อนพายุใหญ่จะมา คลื่นลมมักเงียบสงบ!!”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นับแต่นั้นก็เกิดแรงปะทะระหว่างผอ.สพท.กับศธจ. มาเป็นระยะๆ

พีคสุดเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2560 ที่ผอ.สพท.แท็กทีมผู้อำนวยการโรงเรียน(ผอ.ร.ร.) ต่อต้าน ศธจ. เริ่มจากผอ.สพท.งัดข้อปฏิเสธการร่วมงานกับศธจ. ตามมาด้วยผอ.ร.ร.ฟ้องร้องศธจ.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากยังไม่พิจารณาเลื่อนเงินเดือน ต่อด้วยเหตุการณ์ผอ.ร.ร.ฟ้องศธจ.เนื่องจากยังไม่ลงนามย้ายผอ.ร.ร.ตามมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ตลอดจนผอ.ร.ร.ตอบปฏิเสธศธจ.ที่สั่งการให้ชี้แจงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้เหตุผลว่ารอผอ.สพท.สั่ง!!

ทั้งนี้ทั้งนั้นสืบเนื่องจากคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 กำหนดให้โอนการใช้อำนาจการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53 (3)(4) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของศธจ.โดยความเห็นชอบของกศจ. จากเดิมอำนาจตามมาตรา 53(3) เป็นของผอ.สพท.และอำนาจตามมาตรา 53(4) เป็นของ ผอ.ร.ร.

Advertisement

ครั้งนั้นชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย(ชร.ผอ.สพท.) ผนึกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ชมรม/สมาคมครูจังหวัดร้อยเอ็ด ออกมาสะท้อนปัญหาว่าคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น การพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะของครู เลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งครู ผอ.ร.ร.และรักษาการผอ.ร.ร. ส่งผลให้รักษาการผอ.ร.ร.ไม่กล้าตัดสินใจเรื่องบุคลากรและงบประมาณ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาตามมา นอกจากนี้มีปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน เพิ่มขั้นตอนการทำงาน ทำให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น มีการโอนอัตรากำลังของเขตพื้นที่ฯ และตัดอัตรากำลังของครูที่เกษียณที่ควรคืนแก่โรงเรียนจำนวนกว่า 1,400 อัตรา ไปให้สำนักงานศธจ. งบประมาณของสพท.ถูกแบ่งไปให้สำนักงานศธจ. ขณะที่ภาระงานยังเหมือนเดิม ตลอดจนกระทบสิทธิประโยชน์ของครูซึ่งส่งผลต่อการเรียนการสอน การออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน/คำสั่งมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ/การเกิดสิทธิการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตาม ว21 การเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นจากการที่เขตต่างๆ ต้องนำคำสั่งไปเสนอให้ศธจ.ลงนาม การขาดประสิทธิภาพในการบังคับบัญชา และที่สำคัญคือการเป็นอัมพาตของการขับเคลื่อนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ และการพัฒนาการศึกษาเชิงบูรณานาการในจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของศธจ. และกศจ.ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพราะทุกกศจ. ติดหล่มการบริหารงานบุคคล

มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เพื่อคืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3)และ(4) ให้แก่ผอ.สพท.และผอ.ร.ร. อาทิ การให้ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) รัฐมนตรีว่าการศธ. และ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)

ร้อนถึงประธานชมรมศธจ.ต้องออกมาโต้กลับว่าศธจ.เพิ่งตั้งไข่ จึงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าศธจ.ทำงานบกพร่อง ตามด้วยผู้แทนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานศธจ. 4 ภาค ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการศธ. สนับสนุนให้รัฐบาลไม่แก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 และขอเวลาให้ศธจ.ทำงานครบ 1 ปีก่อน

Advertisement

เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. เลยต้องลดอุณหภูมิความขัดแย้งด้วยการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.พิจารณา โดยปรับเนื้อหาให้วินวินด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย!!

สาระสำคัญ คือ คืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3)และ(4) ให้แก่ผอ.สพท.และผอ.ร.ร. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล นอกจากนี้จะให้ศธจ.เป็นผู้แทนศธ.ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด โดยจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมีผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับผอ.สพท. และผู้แทนจากส่วนต่าง ๆ

ทว่าเกือบ 5 เดือนที่เสนอร่างแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 ไปยังนายกรัฐมนตรี ไร้ความคืบหน้า กฤษฎีกาเชิญฝ่ายกฎหมายของศธ.ไปชี้แจงหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ประกาศบังคับใช้ซึ่งนพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการศธ.มองว่ารัฐบาลระมัดระวังเรื่องใช้อำนาจตามมาตรา 44 จึงขอให้ใจเย็นๆ ขณะที่องค์กรครูโดยเฉพาะชร.ผอ.สพท.มองว่าถ้ารอไปเรื่อยๆ จะเกิดความเสียหายด้วยว่ากศจ.จะทำแค่เรื่องบริหารงานบุคคล ไม่มีเวลาไปทำเรื่องยุทธศาสตร์และการบูรณาการศึกษาในระดับจังหวัดซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกศจ.

จากนี้จะเห็นแรงปะทะกลับมาปะทุอีกครั้งเพราะชร.ผอ.สพท.กำลังประสานผอ.สพท.ทั่วประเทศ ให้รวบรวมผลกระทบที่เกิดกับสพท. โรงเรียน ครูและนักเรียนจากคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ส่งมายังชร.ผอ.สพท.ภายในวันที่ 20 มิถุนายน เพื่อรวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะประชุมร่วมกับผอ.สพท.ทั่วประเทศและแกนนำสมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขอมติให้ผอ.สพท.และรองผอ.สพท.ทั่วประเทศลาออกจากกรรมการ กศจ.โดยให้เหตุผลว่าเพื่อหยุดเป็นหุ้นส่วนสร้างความเสียหายให้กับระบบการศึกษา

ที่เห็นว่าคลื่นลมเงียบสงบนั้น อย่าเพิ่งวางใจเพราะพายุใหญ่อาจกำลังตามมา!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image