จัดถก’ทรัมป์-คิม’ ใครจ่าย?

(Korea Pool/Yonhap via AP)

การจัดการการประชุมสุดยอดระหว่าง 2 ผู้นำ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งอยู่แล้ว ระดับความยากเย็นสามารถเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้ในกรณีที่ผู้นำทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน แค่เรื่องรักษาความปลอดภัยเรื่องเดียวก็มึนตึ้บ

ยิ่งยากมากขึ้น ค่าใช้จ่ายและสารพัดคำถามยิ่งเกิดขึ้นตามมามากขึ้น ที่ไหน? อย่างไร? และที่สำคัญที่สุดคือ ใครเป็นคนจ่ายเงิน?

กรณีการเจอกันครั้งแรกระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกากับผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งยังคงเป็น “คู่สงคราม” กันอยู่ และเป็นการจัดการเจรจาในรูปแบบที่ไม่ค่อยเจอะเจอกันนัก คือไปจัดในประเทศที่สาม ยิ่งก่อให้เกิดหลายคำถามขึ้นตามมา

ทางการสิงคโปร์ประกาศแล้วว่า เพื่อจัดการเจรจาสุดยอดระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งกำหนดกันไว้ว่าจะเป็นวันที่ 12 มิถุนายนที่จะถึงนี้ จะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณใจกลางเมืองให้เป็น “พื้นที่จัดการพิเศษ” โดยจะเริ่มกวดขันพื้นที่ดังกล่าวนี้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน และจะสิ้นสุดการกวดขันในวันที่ 14 มิถุนายน

Advertisement

บริเวณจัดการพิเศษที่ว่านั้น เป็นบริเวณใกล้เคียงกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสิงคโปร์ ซึ่งครอบคลุมโรงแรมหรูหราอยู่หลายโรงแรม

รวมทั้ง “แชงกรี-ลา” ที่ว่ากันว่าจะเป็นสถานที่เจรจาสุดยอดกันในครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปได้อย่างมาก หากวัดจากความคุ้นเคยในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการจัดการประชุมความมั่นคงประจำปีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นประจำอยู่แล้ว

กระนั้นฝ่ายอเมริกันก็ยังส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาเตรียมการถี่ยิบ

Advertisement

นางซารา แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวบอกว่า ทีม “ส่วนหน้า” ที่ถูกส่งลงพื้นที่มีทั้ง ทหาร, เจ้าหน้าที่ความมั่นคง, ทีมเทคนิคและทีมแพทย์ เตรียมการเสร็จสรรพแล้วจะยังอยู่ที่นั่นจนถึงวันเจรจา

นี่ยังไม่นับทีมอารักขาและคณะติดตามของประธานาธิบดีอีกหลายสิบ

แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทางการสหรัฐสามารถจัดทำงบเบิกจ่ายได้ทั้งหมด คำถามที่ตามมาคือ ทางการเปียงยางควรจะจ่ายในส่วนของตัวเองใช่หรือไม่?

คิม จอง อึน จะยกขบวนกันมากี่คน นอกเหนือจากบรรดาทีมอารักขาที่เคยวิ่งตามเบนซ์ให้เห็นกันทั่วโลกมาแล้ว ยังมีคนอื่นอีกหรือไม่? เป็นใครกันบ้าง เข้าพักที่ไหน ใครเป็นคนชำระ?

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในสหรัฐ เมื่อ วอชิงตันโพสต์ อ้างคำบอกเล่าของ 2 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ทางการอเมริกากำลัง “หาวิธีที่พิถีพิถันรอบคอบ” เพื่อช่วยเกาหลีเหนือจ่ายเงินค่าโรงแรมหนนี้

ว่ากันว่าถึงที่สุดแล้วเรื่องค่าโรงแรมของฝ่ายเกาหลีเหนือคนที่จะจ่ายเงินคือ สิงคโปร์ ที่เป็นเจ้าบ้าน แต่จ่ายอะไร ยังไง ก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ดี

ตัวอย่างเช่น ค่าโรงแรม ซึ่งเดาๆ กันว่า ฟุลเลอร์ตัน น่าจะเป็นที่พักของผู้นำเกาหลีเหนือ สนนราคาสำหรับห้องเพรสซิเดนท์สวีท นั้นตกคืนละ 6,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 190,000 บาทเลยทีเดียว ถ้าหาก คิม จอง อึน ยกคณะใหญ่มาเหมือนกับประธานาธิบดีทรัมป์ แล้วตัดสินใจพักสัก 2 คืน แทนที่จะเป็นคืนเดียว คนจ่ายก็คงทำตาปริบๆ ได้เหมือนกัน

เอริค ทัลแมดจ์ หัวหน้าสำนักข่าวเอพีประจำเปียงยาง ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนอื่นต้องจ่ายแทนเกาหลีเหนือไว้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น

ตัวอย่างหลัดๆ เมื่อเมษายนที่ผ่านมา เมื่อมีการเจรจาสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง คิม จอง อึน กับ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ปันมุนจอม ฝ่ายที่ต้องควักงบประมาณครอบคลุมการจัดการทั้งหมด คือ รัฐบาลเกาหลีใต้ รวมเบ็ดเสร็จแล้วเป็นเงิน 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 160 ล้านบาท)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 รัฐบาลประธานาธิบดีคิม แด จุง ผู้นำเกาหลีใต้ในเวลานั้น แอบจ่ายเงินลับ 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 16,000 ล้านบาท) เพียงเพื่อให้ได้พบกับ คิม จอง อิล บิดาของผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน

คิม แด จุง ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนั้น แต่เมื่อเรื่องเงินดังกล่าวอื้อฉาวขึ้นมา คนสนิทของประธานาธิบดีเกาหลีใต้รายนี้ก็ตกเป็นผู้ต้องหาและลงเอยอยู่ในตะราง

แม้แต่การเชื้อเชิญทัพนักกีฬาเกาหลีเหนือมาร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ทางการโซลก็ต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ตัวอย่างเช่น ในพยองชางเกมส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินรวม 2.5 ล้านดอลลาร์เพื่อรับรองคณะเกาหลีเหนือ 400 คนให้มาเข้าร่วมการแข่งขัน ในจำนวนนั้นมีนักกีฬาจริงๆ แค่ 22 คนเท่านั้น

หรือเอเชี่ยนเกมส์ ที่ปูซาน เมื่อปี 2002 เกาหลีใต้ก็ต้องจ่ายให้ทัพกีฬาเกาหลีเหนือ 1.3 ล้านดอลลาร์ ต่อด้วยอีก 836,000 ดอลลาร์ สำหรับทีมกีฬามหาวิทยาลัยโลกในปี 2003 เช่นเดียวกับเอเชี่ยนเกมส์ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพอีกครั้งเมื่อปี 2014

อึ้ง เอ็ง เฮน รัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ ออกมายอมรับกลายๆ ต่อรายงานของ วอชิงตันโพสต์ ว่าสิงคโปร์จะจ่ายเงินบ้างบางส่วน “เพื่อให้ซัมมิตหนนี้เกิดขึ้นได้”

ในขณะที่ โครงการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการล้มเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ก็เสนอตัวว่าจะแบ่งเงินรางวัลจากเงินรางวัลโนเบลสันติภาพ ที่ได้รับมาเมื่อปีที่แล้วมาช่วยจัดการประชุมหนนี้เช่นกัน

ถือว่าช่วยกันสมทบทุนเพื่อสร้างสันติภาพก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image