บก.ฟอรั่ม วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561

ชี้แจง

เรื่อง ชี้แจงการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
เรียน บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์มติชน

ตามที่ได้มีการเสนอข่าว “เจ้าท่า-หมดท่า” ของหนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ “เดินหน้าชน” เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้ระยะเวลานานถึง 5 ปี ในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม การดำเนินการกู้เรือฟีนิกซ์ ความโปร่งใสในการดำเนินงานของกรมเจ้าท่า นั้น

กรมเจ้าท่า จึงขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้เป็นการทำประมงที่เหมาะสมกับจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำ ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศทางทะเลและเป็นการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหลายหน่วยงาน และกรม  เจ้าท่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยรับผิดชอบในการบริหารจัดการกองเรือประมง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่แท้จริงของประเทศไทย
ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าได้ดำเนินมาตรการที่หลากหลาย อาทิ การปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง การปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรือประมงกับหน่วยงานที่ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการปรับปรุงระบบการสืบค้นข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูลเรือประมงได้อย่างรวดเร็ว และการตรวจสอบย้อนกลับจำนวนเรือประมงในพื้นที่เพื่อยืนยันความถูกต้องของฐานข้อมูล ซึ่งจากการดำเนินการทั้งหมดทำให้ปัจจุบันสามารถทราบจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศไทย

Advertisement

นอกจากมาตรการข้างต้น กรมเจ้าท่ายังนำมาตรการด้านกฎหมาย โดยทำการห้ามจดทะเบียนเรือประมงชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 ปี และปรับปรุงพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนเรือ ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมให้เจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ การกำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนเรือที่มีความรัดกุม ป้องกันการนำเรือประมงอื่นมาจดทะเบียนซ้อน เป็นต้น แม้มาตรการด้านกฎหมายจะเป็นมาตรการที่เคร่งครัดและเกิดผลกระทบต่อเจ้าของเรือประมง แต่การกำหนดดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก และเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเจ้าของเรือ ก่อนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ๆ ทุกครั้ง กรมเจ้าท่าจะทำการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้กลุ่มเป้าหมายทราบเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งมีการกำหนดให้มีมาตรการอุทธรณ์การบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเจ้าของเรือประมงหรือผู้ครอบครองเรือประมง

2.กรณีการอับปางของเรือฟีนิกซ์
ก่อนการจดทะเบียนเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือครั้งแรกให้กับเรือทุกลำ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการตรวจเรือให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับการตรวจเรือฉบับที่เกี่ยวข้องตามประเภทการใช้เรือซึ่งในกรณีของเรือฟีนิกซ์ที่มีประเภทการใช้บรรทุกคนโดยสาร มีการตรวจสอบความแข็งแรงของตัวเรือและอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้โดยกฎข้อบังคับการตรวจเรือ (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2553 ก่อนการจดทะเบียนเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ

สำหรับกรณีการกู้เรือฟีนิกซ์อับปางมีอุปสรรคที่สำคัญ คือ จุดที่เรือฟีนิกซ์อับปางเป็นบริเวณที่มีกระแสใต้ผิวน้ำที่ไหลแรง และมีความลึกระดับ 45 เมตร ประกอบกับเป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้กู้เรือฟีนิกซ์ขึ้นสู่ผิวน้ำไม่เป็นตามแผนที่กำหนดไว้ โดยในปัจจุบันสามารถทำการตั้งซากเรือฟีนิกซ์ให้อยู่ในสภาพที่ง่ายต่อการเคลื่อนจากจุดที่เดิม ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างรอเรือเครนขนาดใหญ่ที่เดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์มาทำการยกเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ และเมื่อดำเนินการกู้เรือฟีนิกซ์เรียบร้อยแล้ว จะทำการส่งมอบให้พนักงานสอบสวนนำเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุการอับปางของเรือฟีนิกซ์ ต่อไป

Advertisement

3.ความไม่โปร่งใสในการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่
3.1 การอนุญาตให้ใช้เรือขนาดใหญ่เป็นคลังเก็บก๊าซในทะเล เป็นการอนุญาตให้นำเรือบรรทุกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขนาดใหญ่จอดทอดสมอเป็นคลังเก็บก๊าซในทะเล เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ลดการผูกขาด ไม่ให้เกิดความขาดแคลนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนบก ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยในการพิจารณาอนุญาตมีการพิจารณาในประเด็นเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานที่มีการกระทำในลักษณะเดียวกันในภูมิภาคอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดให้มีแผนและมาตรการในการป้องกันเหตุ และบังคับให้บริษัทเจ้าของเรือต้องทำประกันภัยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าไม่เคยทำการอนุญาตให้มีเรือเป็นคลังเก็บก๊าซในทะเลเป็นระยะเวลาเกินกว่า  3 ปี

3.2 การอนุญาตท่าเรือยอชต์ของเอกชนที่จังหวัดระยอง จากการตรวจสอบไม่มีการอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือยอชต์ในพื้นที่หาดสุชาดา จังหวัดระยอง มีเพียงการอนุญาตให้ทำการก่อสร้างคานเรือ (ทางขึ้น-ลงเรือ) สำหรับใช้ปล่อยเรือที่ต่อสร้างของอู่ต่อเรือ ซึ่งในกรณีนี้จังหวัดระยองได้มีคำสั่งจังหวัดระยอง ที่ 11680/2561 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็น อันได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงที่ทำการก่อสร้างคานเรือ และการก่อสร้างคานเรือเป็นตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองหรือไม่ โดยหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าการก่อสร้างคานเรือไม่เป็นตามที่ได้รับอนุญาต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองจะดำเนินการให้มีการดำเนินคดีทางอาญาและทำการรื้อถอนคานเรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดต่อไป

3.3 การอนุญาตให้สร้างท่าเทียบเรือขนส่งก๊าซบริเวณแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม จากการตรวจสอบพบว่า ในการอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือมีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และมีการดำเนินการเป็นไปตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 63 พ.ศ.2537 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลึกน้ำกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาภายหลังมีการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนว่าการอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเทียบเรืออาจไม่ถูกต้องตามประกาศเขตผังเมือง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้หารือกระทรวงมหาดไทยว่าในการพิจารณาประเด็นเรื่องผังเมืองของคณะกรรมการจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นผู้มีหนังสือรับรองยืนยันว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ไม่ขัดต่อผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นการพิจารณาที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยผังเมืองหรือไม่
หากผลการหารือได้ผลที่ทำให้การพิจารณาอนุญาตเสียไป อันเนื่องจากเอกสารประกอบการพิจารณาที่ยื่นโดยผู้ขออนุญาตมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง กรมเจ้าท่าจะทำการเพิกถอนใบอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือ   ดังกล่าวต่อไป

4.การดำเนินงานการบริหารจัดการงบประมาณ
กรมเจ้าท่ามีการปรับปรุงกระบวนการการดำเนินงานด้านงบประมาณให้มีความรวดเร็วโดยในปีงบประมาณ 2562 นี้ มีรายการที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งสิ้น 129 รายการ ปัจจุบันลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 31 รายการ อยู่ระหว่างประกวดราคา จำนวน 63 รายการ และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดเฉพาะลักษณะของงาน (TOR) ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้นอีก 35 รายการ ซึ่งในปี 2562 นี้ กรมเจ้าท่าคาดว่าจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบข้อเท็จจริง

ขอแสดงความนับถือ
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง
อธิบดีกรมเจ้าท่า

จนจริงๆ

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน (บก.ฟอรั่ม) ที่นับถือ

ประชาชนคนธรรมดาหาเช้า-กินตอนค่ำในขณะนี้ปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความเจริญ ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในโลก  โซเชียล สังคมไร้พรมแดน แต่รัฐบาลหารู้ไม่ว่าขณะนี้ ณ เวลา นาทีนี้ ราคาของกินของใช้เศรษฐกิจในการใช้จ่ายมีราคาสูง เม็ดเงินแต่ละบาทแต่ละร้อยเหมือนไม่มีค่า เพราะว่าผลผลิตของชาวสวน ชาวไร่ ชาวนาตกต่ำ
รู้หรือไม่ว่าเวลานี้ราคาผลิตน้ำยางสดในจังหวัดภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการปลูกยาง ปลูกพืชปาล์มน้ำมันว่ามีค่าราคาเท่าใด อย่าอวดอ้างตัวเลขจีดีพี โดยภาพรวมราคาของเครื่องใช้แพงกว่าต้นทุนทำให้ชาวสวน ชาวไร่ ผู้ปลูกผลิตผลมีรายได้ไม่พอกับต้นทุนการผลิต

รัฐบาลมองชาวสวนว่ากระเป๋าตุง มีเงินใช้แน่ รู้หรือไม่ว่าจนสุดขีด ไม่มีวันจะขึ้นแล้ว ราคายาง 3 กก. 100 บาทแล้ว มะพร้าวลูกละ 5 บาท แล้วปาล์มน้ำมัน 2 บาทแล้ว จะอยู่ได้อย่างไร เปิดเทอมผู้ปกครองต้องเข้า  โรงจำนำ ถามว่ารัฐจะช่วยอย่างไรเพื่อมิให้อดตาย

จะหามาตรการอันใดเพื่อให้มีลมหายใจ ชาวสวน ชาวไร่ รอความช่วยเหลือ ไม่รู้จะพึ่งผู้ใดนอกจากสื่อที่ช่วยเป็นปากเสียงให้ผู้ยากไร้ทั้งหลาย กรุณาช่วยส่งความทุกข์ไปยังรัฐบาลผู้บริหารประเทศ การเลือกตั้งต้องมีขึ้นตามคำพูดไว้ ไม่ใช่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่รู้กี่ครั้ง จงมีความสัตย์ต่อประชาชน ประชาชนไม่กินแกลบ มีสมอง   มีความรู้สึก โปรดมีจิตสำนึกด้วยเถิด

สุดท้ายขอให้คณะบริหารของท่านจงประสบความสุขตลอดปี 2562 พบกันวันเลือกตั้งจะได้รู้หมู่หรือจ่า     อย่าเสียสัตย์เพื่อชาติ

ขอแสดงความนับถือ
จาก ผู้อ่านประจำ

ตอบคุณผู้อ่านประจำ
การเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอนภายใน 9 พ.ค.2562 ไม่ว่าใครจะมาใครจะไป แต่เป็นไปตามกระบวนการ น่าจะยังพอมีโอกาสฟื้นคืนสภาพดีๆ อย่างสมัยก่อนกลับมา
การเมืองมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ ประเทศไทยอยู่ในระบบที่ต่างจากจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มีแต่จะต้องกลับไปสู่ระบบเดิมที่นานาชาติยอมรับ โอกาสดีๆ ในการทำมาค้าขายถึงจะกลับมาครับ

ยื่น บช.ทรัพย์สิน

เรียน บก.ฟอรัม

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย

1.อยากให้ออกแบบสอบถามกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่ามีผู้เห็นด้วย และมีผู้คัดค้านจำนวนเท่าใด หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่คัคค้านการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

2.กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นเกี่ยวกับการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและต้องการลาออกมีกี่ราย

3.สำรวจกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันแต่ละท่านเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยกี่แห่ง มหาวิทยาลัยใดบ้าง และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยระยะเวลากี่ปี

4.ต้นเหตุของปัญหาของการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกิดจากสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจออกข้อบังคับ ระเบียบ อนุมัติการเปิดสอน และหลักสูตรการศึกษา ซึ่งถือว่าข้อบังคับและระเบียบที่ออกโดยสภามหาวิทยาลัยเป็นที่สุด และเกิดจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ส่งผลให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด สามารถอนุมัติการเปิดสอนและหลักสูตรการศึกษาพิเศษ มีรายได้จากค่าหน่วยกิตจากนักศึกษาจำนวนมาก และมหาวิทยาลัยมีการขึ้นค่าหน่วยกิต 4-5 เท่า ทำให้นิสิต นักศึกษา ไม่ได้ประโยชน์อันใด

5.มีเรื่องฟ้องร้องกรรมการสภามหาวิทยาลัยมากมายทุกมหาวิทยาลัยจริงหรือไม่ แต่การวินิจฉัยเด็ดขาดเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย จึงทำให้การร้องเรียน ฟ้องร้อง ไม่มีผลใช่หรือไม่
ฯลฯ

ผู้อ่าน

ตอบ คุณผู้อ่าน
เรื่องนี้น่าจะต้องพูดกันยาวๆ และให้รอบด้านว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยควรจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ไม่ใช่ว่าพอมีขาใหญ่ลาออก ก็เลยอึ้งๆ หาทางออกกันยกใหญ่ ลงท้าย คนเสียประโยชน์คือ ประชาชนที่คิดว่าภาครัฐจะเอาจริงกับการปราบทุจริต แต่สุดท้ายเจอมวยล้มต่อหน้าต่อตา

แต่ปมหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ การยกร่างกฎหมาย โดยสภาที่ไม่ได้มาจากคนส่วนมาก จะเกิดปัญหาอย่างนี้และเท่าที่ทราบ ก็เกิดขึ้นมาหลายครั้ง ทำให้ยิ่งเห็นความจำเป็นว่าจะต้องกลับไปสู่สภาพปกติ จะได้ไม่ต้องเกิดสภาพอิหลักอิเหลื่อ ลงทุนช่วยกันต้มยำทำแกง แต่พอยกออกมา กลับแตกฮือหนีกันไปหมด ไม่ยอมกินทั้งที่ฝีมือตัวเองแท้ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image