เรียงคนมาเป็นข่าวสเปเชียล : โดย คุณอ้อ วันที่2มิถุนายน2562

⦁….เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกอบพิธีสมรสพระราชทาน ระหว่าง ร.ท.หญิงจุฑาภัค สีตบุตรบุตรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม-ดร.วิภาดา สีตบุตร กับ นายสัตวแพทย์นที เตชะอาภรณ์กุล บุตร นายสัตวแพทย์วรพงษ์ เตชะอาภรณ์กุล-นางสาวภาวนา ศิริสุทธินันท์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่สมรส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความยินดีขอเรียนเชิญท่านร่วมเป็นเกียรติในงานเลี้ยง เนื่องในพิธีฉลองสมรสพระราชทาน ณ ห้องแอทธินี คริสตัลฮอลล์ โรงแรมดิ แอทธินี โอเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เวลา 18.00 น. วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 (ค็อกเทล)

⦁⦁⦁⦁⦁⦁

⦁….อิสรีย์ ตัณฑสิทธิ์ ลูกสาวคนโปรด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ พรพาณี ตัณฑสิทธิ์ เพิ่งบินไปรับปริญญาโท Master of Arts จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ได้เล่าให้ฟังถึงพิธีประสาทปริญญา ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ซึ่งสืบสานต่อเนื่องมานานกว่า 800 ปี ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักศึกษาปริญญาตรีทุกคนเมื่อจบการศึกษาไม่ว่าสาขาใดก็ตาม จะได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Arts)
แต่การเข้ารับประสาทปริญญา “Master of Arts” ต้องผ่านเกณฑ์ที่มหา วิทยาลัยเคมบริดจ์กำหนดไว้ 6 ปี นับตั้งแต่เข้าเรียนและได้รับปริญญาตรีมาแล้วมากกว่า 2 ปี อีกทั้งต้องไม่มีประวัติเสื่อมเสีย
เมื่อครบ 6 ปี นักศึกษาผ่านเกณฑ์จะได้รับจดหมายเชิญจากมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ การประสาทปริญญาของเคมบริดจ์ในทุกๆ ปริญญามีรูปแบบพิเศษแทนที่มหาบัณฑิตเดินเข้าไปรับใบปริญญาจากมืออธิการบดี แต่ที่นี่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเรียกว่า Praelector พูดต่ออธิการบดีเป็นภาษาละตินว่า “บุคคลต่อหน้าท่านคนนี้มีความประพฤติและได้ศึกษาเล่าเรียนมา มีความเหมาะสมที่จะได้รับปริญญา”
จากนั้นผู้สำเร็จการศึกษาจะเดินเข้าไปคุกเข่าต่อหน้าอธิการบดี ทำท่าในลักษณะพนมมือ อธิการบดีกุมมือมหาบัณฑิตไว้ แล้วกล่าวเป็นภาษาละติน ความว่า “ขอประสิทธิ์ประสาทปริญญาให้” ใบปริญญาจะได้รับภายหลังจากเสร็จพิธีแล้ว
พิธีนี้เป็นรูปแบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยโรมัน ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกได้ถึงความขลังและความสำคัญของการศึกษา
ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งชายและหญิงสามารถเลือกใส่กระโปรงหรือกางเกงได้ แต่ต้องเป็นสีขาวดำเท่านั้น ยังต้องคงไว้ซึ่งความเรียบร้อย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีสามารถทำควบคู่ไปกับการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของบุคคลได้
สำหรับ “อิสรีย์” จบปริญญาตรีสาขากฎหมาย เมื่อปี 2559 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้รับปริญญาโทสาขากฎหมาย กลับมา
สอบเป็นเนติบัณฑิตเมื่อปี 2561 ปีเดียวกัน “อิสรีย์” สอบบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ปัจจุบันอยู่ระหว่างฝึกอบรมที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image