‘ผาสุก’ ซัด คสช.ประกาศลดความเหลื่อมล้ำ แต่ลดนโยบายช่วยยั่งยืน ปชช.ถูกทำให้เงียบ

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 21 มิถุนายน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม จัดเสวนา “ความขัดแย้งและสันติภาพ นโยบายรัฐ และประชาธิปไตย” โดยช่วงแรกเป็นปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ครั้งที่ 2 เรื่อง “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพรจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจนเต็มห้องเสวนา

ศ.ดร.ผาสุกเผยว่า หัวห้อปาฐกถาวันนี้คือปริศนาความเหลื่อมล้ำซึ่งมีหลายมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา แต่วันนี้จะพูดถึงด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่แอบแฝงอยู่ในไทยมาช้านาน นอกจากนี้ ทั่วโลกยังวิตกกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายพบว่าประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงจะส่งผลให้ประเทศขาดความมั่นคงในการตัดสินใจเด็ดขาด สังคมเกิดความขัดแย้งวุ่นวายไม่รู้จบ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำและเติบโตช้า รวมถึงประชาชนรู้สึกไม่ยุติธรรม ทำให้ขยายปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และจุดวิกฤตของความเหลื่อมล้ำก็จะบังเกิด

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ผู้นำของเราบางคนในสมัยนั้นก็ตระหนักในเรื่องนี้ บ้างออกมาพูดว่าเหตุการณ์นี้เป็นความเหลื่อมล้ำครั้งแรก ทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองและวางนโยบายเพื่อออกมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือหนึ่งในนั้น ซึ่งหลังก่อการรัฐประหารและเถลิงอำนาจตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้กล่าวกับสาธารณชนตอนนั้นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาของประเทศที่รัฐบาลต้องมีนโยบายเพื่อแก้ไข โดยข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำในสังคม มีนโยบายเกี่ยวกับ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก 2.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 3.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพื่อความเสมอภาคในการศึกษา ซึ่งหมดนี้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช. แต่ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังไม่จางหายไป เนื่องจากนักวิชาการหลายฝ่ายพยายามผลักดันการลดภาษีมรดกมาช้านาน แต่เมื่อผ่านกลับถูกแก้ไขเพื่อเอาใจผู้มีทรัพย์ และเปิดช่องให้เลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมิได้แก้ปัญหาตามที่กล่าวไว้ ทั้งยังทำให้รัฐได้รับรายได้น้อยเกินไป

“ส่วนบัตรคนจน เป็นห่วงว่ากรอบความคิดและวิธีทำไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน และทำอย่างเร่งด่วนจนขาดความนุ่มลึก อีกทั้งไม่ได้ประเมินเลยว่าผู้ได้รับจะได้รับตรงเป้าดีแค่ไหน ส่วนกองทุนเพื่อความเสมอภาคในการศึกษาที่มีผู้บริจาค โดยรัฐบาลกำหนดให้ลงขันปีละหนึ่งพันล้านบาท ส่วนหนึ่งต้องได้รับมาจากการบริจาค ทำให้รัฐไม่ได้รับงบประมาณอย่างชัดเจน ทำให้เกิดข้อกังขาว่าจะทำให้ลดปัญหาได้หรือไม่ ทั้งที่เป็นนโยบายที่ดี ขณะที่ คสช.ประกาศจะลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับคุกคามที่จะเปลี่ยนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการส่วนมากชี้ว่าโครงการนี้จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ผลอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ทำไมรัฐบาล คสช.ที่ประกาศจะลดความเหลื่อมล้ำ กลับลดนโยบายที่ควรทำให้ยั่งยืนต่อไป หรือปรับให้ดีขึ้น ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น” ศ.ดร.ผาสุกกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวอีกว่า ประเทศเราเคยมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำและทางออกหายไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้กลับไม่มีนโยบายอะไรที่แก้ปัญหานั้นได้อย่างชัดเจน และประชาชนยังถูกทำให้เงียบประหนึ่งเด็กซุกซนคนหนึ่ง คนไทยหลายคนเกิดความรู้สึกว่านี่ไม่ยุติธรรม และพร้อมจะลุกขึ้นมาพูดขึ้นดังๆ ว่าพวกเราไม่ยอม จนเกิดกระแสต่อต้านดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อาทิ กรณีคดีเสือดำ การต่อต้านรัฐบาลของประชาชน อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำสูงไม่อาจแก้ไขได้โดยเร็ว แม้ว่าจะมีนโยบายหลายอย่างออกมาช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ เช่น สวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายเงินบำนาญ การชดเชยคนตกงาน การอุดหนุนผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แต่เมื่อประชาชนยังเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า สังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ยุติธรรมต่อพวกเขา ความเหลื่อมล้ำก็จะยังคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image