ฟังชัดๆ อภิสิทธิ์ นำ ประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่างรธน. ทำประชาธิปไตยไทยถดถอย(คลิป)

“มาร์ค” ร่ายยาว โชว์ 3 จุดยืน ปชป. ชี้ ร่างรธน.มีข้อเสียมากกว่าข้อดี แต่ยังกั๊กรับหรือไม่ หนุน ปชช.คว่ำคำถามพ่วง ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ชี้ สูตรสำเร็จขยายความขัดแย้ง ยก รธน.21 ดักทาง หวัง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ไม่กลืนน้ำลายตัวเอง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. พร้อมด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าปชป. ร่วมแถลงว่า ปชป.มีจุดยืน 3 ประเด็น คือ 1.ร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านตนเป็นผู้หนึ่งที่ออกเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จากความพยายามที่จะรื้อแต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้ว่า หากจะมีการรื้อก็ต้องถามความเห็นประชาชนก่อน ดังนั้น หัวใจสำคัญคือต้องให้ประชาขนมีส่วนร่วมต่อการจัดทำประชามติด้วยกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม แต่ขณะนี้เนื้อหาตามร่างพ.ร.บ.ประชามติยังมีความสับสนว่า สิ่งใดห้ามทำ หรือสิ่งใดเป็นการชี้นำ ซึ่งพรรคเห็นว่า ประชาชนควรมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ เกี่ยวกับการรณรงค์ไม่ควรขัดกฏหมาย ถ้าทำโดยสุจริตย่อมทำได้ ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกมายืนยันให้ชัดเจนว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิแสดงออกได้ มิเช่นนั้น กระบวนการจัดทำประชามติจะเสียเปล่า และไม่ชอบธรรม เพราะ สนช.ออกกฏหมายฉบับนี้ โดยคุ้มครองแต่ กรธ.กับ เจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถรณรงค์และชี้นำได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2.พรรคไม่เห็นด้วยและไม่รับคำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยประชาชนสมควรลงมติไม่รับคำถามนี้ เพราะ ส.ว.เกิดขึ้นจากกระบวนการสรรหา โดยคสช.เป็นผู้เลือก ซึ่งการให้ส.ว.มาลงคะแนนร่วมกับ ส.ส.โดยมีสิทธิเท่ากัน จะเป็นการลบล้างเจตจำนงของประชาชน ซึ่งที่ผ่านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ได้ปฏิเสธประเด็นนี้แล้ว การเริ่มต้นเช่นนี้เป็นสูตรสำเร็จของการเริ่มต้นความขัดแย้งให้ขยายวงกว้างมากขึ้นไปอีก สมมุติว่า ถ้าให้ ส.ว.จับมือกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.น้อยที่สุด หรือเสียงข้างน้อยแล้วตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมา ก็จะทำให้รัฐบาลทำงานยาก จะมีปัญหาเรื่องการผ่านกฏหมาย รวมถึงญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย หรือ หากส.ว.จับมือกับพรรคใหญ่ก็จะได้สภาเผด็จการ ลดอำนาจเสียงข้างน้อยในการคานอำนาจ ดังนั้น ไม่ว่า ส.ว.จับกับใครก็มีผลเสีย ทั้งนี้ ตนจำได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการ ดังนั้น จึงหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะคงยืนยันหลักการนี้

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 3.พรรคไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะจากการประมวลความเห็นของสมาชิกพรรค เห็นว่า ยังมีข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยข้อดีที่พรรคสนับสนุน นั่นคือมาตรการบางเรื่องในการปรามปราบทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ก็ยังมีจุดอ่อน เช่น การยกเลิกกระบวนการถอดถอน รวมทั้งโทษที่ลดลงไปจากเดิม จากที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพเหลือตัดสิทธิเพียง 5 ปี หรือ สถานะของ ป.ป.ช.ที่หากปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็จะสามารถฟ้องต่อศาลได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากจะดำเนินการกับ ป.ป.ช.ต้องผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งก็สังกัดฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น ส่วนข้อเสียก็ชัดเจน เพราะมีการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ผ่านมาเราคาดหวังกับการปฏิรูป แต่โครงสร้างหลักกลับกลายเป็นทิศทางตรงกันข้าม เริ่มจากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 รวมถึงสิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข บริการทางกฏหมาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอำนาจราชการมากเกินไป ซึ่งจะทำให้การตอบสนองความต้องการของประชาชนลดลง

“ปัญหาสำคัญคือ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากมาก เพราะนอกจากจะได้เสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว จะต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล 5 ปีทำให้ ส.ว.เกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คล้ายกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 ซึ่งเราไม่ควรลืมประวัติศาสตร์ เพราะปรากฎว่า ในขณะนั้นเมื่ออำนาจตามบทเฉพาะกำลังจะหมดอายุลงกลับมีความพยายามที่จะต่ออายุบทเฉพาะกาลให้ยืดยาวออกไป ดังนั้น การจะแก้ไขให้มีความก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นจะทำไม่ได้เลย แต่ถ้าส.ว.กับรัฐบาลสมประโยชน์กันมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ตนเองต้องการก็จะแย่กันไปใหญ่ ดังนั้น ทั้งหมดนี้จะทำให้สมาชิก พรรคเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่า จึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นประชาธิปไตย ประเทศไม่ควรจะต้องเลือกระหว่าง เผด็จการ กับคอร์รัปชั่น สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เหตุที่เราไม่พูดว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีกระบวนการปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองเกี่ยวข้องอีก หากประชาชนไม่รับร่างจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ต่อไปจะดีหรือเลวร้ายไปกว่านี้ ประชาชนมีสิทธิรู้ว่า ถ้าไม่รับแล้วจะมีกระบวนอะไรต่อไป ซึ่งเราต้องการคำตอบจาก คสช. ที่ผ่านมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯก็พูดหลายครั้งแล้วว่าเตรียมทางออกไว้แล้ว แต่ประชาชนไม่เคยรับรู้จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง นอกจากนี้สมาชิกพรรคยังห่วงว่า มีคนกลุ่มหนึ่งนำประเด็นรับหรือไม่รับมาเล่นการเมือง โดยมีการเรียกร้องให้รัฐบาล รวมไปถึง คสช.ลาออก หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากเป็นเช่นนี้ จะนำไปสู่ความวุ่นวายของบ้านเมืองอีก จึงขอให้ทุกฝ่ายหยุดนำเรื่องรัฐธรรมนูญมาเล่นการเมืองเพื่อให้ประชาชนตัดสินเองว่า ประเทศจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีได้อย่างไร ซึ่งเมื่อถึงเวลา ปชป.จะมีจุดยืนที่ชัดเจนอีกครั้ง

Advertisement

เมื่อถามว่า คำว่าไม่เห็นด้วย หมายความว่าท่าทีของพรรคคือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องเนื้อหาสาระไม่เห็นด้วย แต่การรับหรือไม่รับมีปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องคำนึงถึง ถ้าไม่ชัดเจนจะวุ่นวาย การได้รัฐธรรมนูญที่เลวร้ายกว่า ไม่ใช่ทางออกของสังคม วันนี้ไม่ยากที่จะบอกว่ารับ หรือไม่รับ แต่นี่เป็นอนาคตประเทศ จึงเรียกร้องขอให้คสช.ชัดเจน ขอให้กำหนดกติกาเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเทศชาติมีทางเดินที่ไม่วุ่นวาย ดังนั้น คสช.ควรรับผิดชอบ ด้วยการให้เกียรติบอกประชาชน ถ้าไม่บอกเมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกตนก็ต้องตัดสินใจ ตนไม่มีสิทธิไปขีดเส้นให้นายกฯอยู่แล้ว ตนไม่ได้เรียกร้องเพื่อไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจ แต่เพื่อให้ประชาชนที่จะลงประชามติเขารู้ก่อน

เมื่อถามว่า เท่ากับว่า ก่อนการลงประชามติ พรรคจะมีจุดยืนชัดเจนออกมา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ใช่ ก่อนวันลงประชามติด้วย” เมื่อถามว่า เมื่อถึงจุดที่ไม่ยอมรับ จะแสดงออกเป็นท่าทีอย่างไร ว่าไม่ยอมรับกระบวนการประชามติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เวลาถึงจุดนั้น สุดท้ายหนีไม่พ้นความรุนแรง จะเกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่นายกฯพูดทุกวันว่า กลัว ไอ้คำว่ากลัวเหมือนอดีตท่านต้องไปดูว่า อดีตเกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับกติกา การไม่ยอมรับการใช้อำนาจ แต่ไม่ได้เกิดเพราะว่ามีเลือกตั้ง มีผลการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก” เมื่อถามว่า การให้วุฒิสภามาร่วมเลือกนายกฯเกี่ยวข้องอะไรกับการความพยายามที่จะต้องการให้ผู้มีอำนาจในขณะนี้ กลับมามีอำนาจสูงสุดอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เห็นพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ตนว่าก็ต้องเชื่อท่าน เพราะถ้าท่านไม่รักษาคำพูดก็เห็นบทเรียนในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว”

เมื่อถามว่า จากบรรยากาศขณะนี้ จะมีการประชามติเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คนที่จะทำให้ไม่เกิดประชามติได้คือพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะใช้มาตรา 44 หรือจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว การที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าโดยไม่วุ่นวายจึงระมัดระวังอย่างมากในการแสดงจุดยืนทางการเมืองวันนี้ใครมีอำนาจก็ทำให้ชัดเจน กกต.ต้องกล้า อย่าปล่อยให้ประชามติกลายเป็นเรื่องที่ มีเฉพาะ กรธ.กับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะไปพูดจารณรงค์ได้ ยิ่งถ้ากกต.และองค์กรอิสระไม่แสดงความกล้าหาญ จะยิ่งทำให้คนไม่มั่นใจในโครงสร้างของการเมืองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าองค์กรอิสระทำไม่ได้ ระบบที่ออกมาแบบมาทั้งหมดเดินไม่ได้อยู่แล้ว และตัวผู้มีอำนาจต้องวางตัวให้องค์กรอิสระทำงานได้ ห้ามไปแทรกแซง กดดัน ไม่ควรมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 กับองค์กรอิสระ ยกเว้น ทุจริต หรือทำเสียหายถึงขั้นไม่สามารถใช้สิทธิการปกติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image