“มาร์ค” จี้ คสช.ปลดล็อก ทวงถามปฏิรูปการเมือง เชื่อ การเลือกตั้งทำให้ประชาธิปไตย ตั้งไข่

ภาพจาก แฟ้มภาพ

วันที่ 24 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเมืองไทยวันนี้” ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาชาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้กับนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าว โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะพยายามเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ประสบปัญหา เพราะมีการใช้อำนาจทั้งที่มาจากการเลือกตั้งละเมิดสิทธิและเสรีภาพจนนำมาสู่ปัญหาในปัจจุบัน แม้แต่ประเทศที่เรามองว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยก็เผชิญปัญหานี้เหมือนกัน หากวิเคราะห์แล้วเกิดจากปัญหาความเชื่อมั่นและความศรัทธาประชาชนที่มีต่อนักการเมืองลดน้อยลงมาก แม้จะมีรูปแบบประชาธิปไตย แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กระแสโลกมีการเปลี่ยนแปลงจนเราเห็นเป็นรูปธรรม มีคนถามว่าทำไมประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ถึงต้อนรับผู้นำไทยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าถ้าเป็นช่วง10 ปีที่แล้วไม่มีภาพแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดการปฎิวัติเป็นธรรมดาที่ต่างชาติลดระดับความสัมพันธ์ เพื่อส่งสัญญาณให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าเราสังเกตให้ดีช่วง 1-2 ปีแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปประชุมต่างประเทศ ในช่วงนั้นไม่มีผู้นำตะวันตกพบเราในลักษณะทวิภาคีเลย แถมยังออกแถลงการณ์กดดันให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่โลกตะวันตกไม่สามารถทัดทานได้ว่าการทำตัวห่าง ทำให้จีนเดินหน้าชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการค้าต่างๆ จนทำให้ประเทศตะวันตกสูญเสียพื้นที่ ดังนั้นต้องกลับมามีความสำคัญ เพราไม่เช่นนั้นจะเสียประโยชน์เองจึงต้องกลับมาหาเรา โดยหาข้ออ้างยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก การไปเยือนยุโรปของนายกฯในครั้งนี้ เขาก็จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้น แต่ที่เราเห็นคือนายกฯพูดทุกวันว่ายืนยันมีการเลือกตั้งแน่นอน อาจจะมีวันที่หรือเดือนขยับไปบ้าง แต่ก็ย้ำต้องมีการเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความท้าทายการเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศคือ ต้องนำรูปแบบพื้นฐานประชาธิปไตยกลับมาให้ได้ก่อน ต้องให้ประชานสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ เมื่อมีรูปแบบแล้วต้องทำให้ประชาชนกลับมาศรัทธาและเชื่อมั่นในกระบวนการหรือองค์การที่เป็นสถาบันประชาธิปไตย ทั้งนี้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกับเสถียรภาพทางรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และไม่ให้ไประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็ใช่ว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ทั้งนี้การใช้อำนาจพิเศษก็ใช้ได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นสังคมจะเกิดการสะสมความอึดอัดและเกิดความวุ่นวายต่อไปได้

Advertisement

“วันนี้ต้องดูว่าประชาธิปไตยจะเดินหน้าได้อย่างไร แต่เรามีปัญหาเรื่องรูปแบบ เช่นมีการเลือกตั้งแล้วใช่ว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยเสมอไป บางคนบอกว่าไม่มีการเลือกตั้งได้หรือไม่ คงเป็นไปได้ยาก เพราะประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบ้านเมือง ดังนั้นการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเสรีและมีความเป็นธรรม การที่จะมีการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมได้ คนที่อาสาตัวเข้ามาก็ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ต้องสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ มีสิทธิเสรีภาพทำกิจกรรมต่างๆทางการเมืองตามปกติได้ แต่ปัญหาคือ การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เชิญพรรคการเมืองไปคุยในวันที่ 25 มิถุนายน เพราะมีปัญหาต้องปลดล็อกอยู่ ตอนนี้พรรคการเองประสบปัญหาไม่ใช่เพราะกฎหมาย กฎหมายที่ออกมาถ้าพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตามปกติก็ไม่มีปัญหา ถ้าพรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ตามปกติก็จะไปหาสมาชิกพรรคเพื่อจัดตั้งสาขาและทำกิจกรรม แต่ปัญหาคือตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง เพราะมีคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม และห้ามดำเนินการชุมนุมเกิน5 คน มันเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของการทำกิจกรรมพรรคการเมือง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คสช.สั่งให้สมาชิกพรรคมายืนยันความเป็นตัวตน แต่พรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดห้ามทำกิจกรรม จึงมีการถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าแล้ววิธีการจะทำอะไรได้บ้าง กกต.จึงตอบวรรคทองว่า สื่อสารได้แต่ห้ามประชาสัมพันธ์ คือไปบอกสมาชิกทีละคนได้ แต่จะไปโฆษณาเชิญชวนคนมาไม่ได้ ในส่วนของพรรคปชป.พื้นที่ใดมีส.ส.อยู่ก่อนก็ไม่ยาก แค่เดินไปติดต่อสมาชิกพรรค แต่พื้นที่ที่ไม่มีส.ส.จะให้ทำอย่างไร ในช่วงนั้น 30 วัน พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกพรรค 90,000 กว่าคน แต่ไม่ต้องแปลกใจตัวเลข เพราะทุกพรรคการเมืองมีเลขสมาชิกพรรคหายไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ายังไม่มีการปลดล็อกปัญหาก็จะทับถมทวีคูณ ปัญหาตรงนี้ยังไม่คลาย รูปแบบที่จะเริ่มต้นให้มีพรรคการเมืองตามมาตรฐานเจตนากฎหมาย แนวคิดที่จะปฏิรูปการเมืองก็ยังทำไม่ได้ ตอนนี้ทุกพรรคก็ทำได้แต่ดูว่าจะทำตามเงื่อนไขได้อย่างไร หลายพรรคตอนนี้คือไปหาสมาชิกพรรคให้ได้จังหวัดละ 110 คน เพื่อให้ประชุมพรรคได้ ส่วนการกำหนดให้มีไพรมารีโหวตถือเป็นการกระจายการมีส่วนร่วม หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องดูว่าคสช.จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

“การที่คสช.ไม่ปลดล็อกไม่ใช่เพื่อประโยชน์พรรคการเมือง แต่ถ้าไม่ทำเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่คนมีส่วนร่วมมากๆก็ไม่ได้เป็นการปฏิรูปการเมืองตามที่คสช.พูดไว้ก็เท่านั้นเอง เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ตั้งไข่ และต้องป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่ถามว่าผู้ดูแลการเลือกตั้งสามารถทำหน้าที่ได้อิสระและเป็นกลางหรือไม่ เรามีกกต.ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 40 จนถึงปัจจุบัน มีกกต.บางชุดทำหน้าที่ได้ดี บางชุดก็ติดคุกเพราะทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง แต่ต่อไปเราจะมั่นใจความเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องดูที่มาของกกต.ชุดต่อไป ที่อาจมีความผูกพันกับคสช. เพราะถูกเลือกมาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) อีกทั้งที่ผ่านมามีการใช้มาตรา44 ปลดกกต. ที่เป็นองค์กรอิสระ ต้องไม่ลืมว่ามาตรา 44 สามารถใช้ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ คือทั้งในช่วงเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งจนว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ กกต.ทำงานไปคงเหลียวหลังแลหน้าว่าหากทำงานแล้วคสช.ไม่พอใจอาจถูกปลดได้ จึงเกิดเครื่องหมายคำถามว่า ตอนนี้คนในคสช.น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้ว แม้ก่อนหน้านี้จะทำตัวเป็นกรรมการ แต่วันนี้กรรมการแสดงตัวจะเป็นผู้เล่น และถืออำนาจอยู่ สวนทางและแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่คสช.ทำไว้เอง หากมีการเลือกตั้ง เราจะได้การเลือกตั้งที่เสรีและมีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องพลังดูดที่เป็นศัพท์ทางการเมือง ไม่ใช่แค่การย้ายพรรคแบบทั่วไปแต่ตอนนี้มองว่ามีการใช้เงิน ตำแหน่ง หรือเรื่องของคดีความมาโน้มน้าว ซึ่งเป็นความเลวร้ายที่จะทำให้การเมืองไม่สุจริต เมื่อฝ่ายหนึ่งทำได้ ฝ่ายอื่นก็จะทำบ้าง กลายเป็นว่าจะทำร้ายสถาบันการเมืองพื้นฐาน นอกจากนี้สมมติว่าเรามีการเลือกตั้งที่เรียบร้อย และเป็นที่ยอมรับ เราจะเจอกับปัญหารูปแบบบทเฉพาะการที่ให้ส.ว.ที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้กลายเป็นปมปัญหา เพราะเรายังไม่ทราบผลการเลือกตั้งข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นแบบนี้อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต ประเทศไทยเมื่อมีรัฐบาลแล้วจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ ซึ่งยังมีหลายปัจจัยในสังคม นักการเมืองยอมรับบทเรียนในอดีตหรือไม่ ไม่ใช่นั้นก็จะวนเวียนกลับมาที่เดิม เป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image