ประชาสังคมใต้ร่อนแถลงการณ์ จี้สอบจนท.อ้างกม.พิเศษ คุกคามหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (24 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์ ขอให้สอบสวนการอ้างใช้อำนาจกฎหมายพิเศษค้นบ้านพัก ของหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW) โดยระบุว่า เมื่อวันศุกร์ ที่ 22 มิถุนายน 2561 มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสนธิกำลังค้นบ้านพักนางโซรยา จามจุรี นักวิชาการในสังกัดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีในนามคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW) รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

เหตุเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 2 คันรถ มาตรวจค้นบริเวณชุมชนและที่บ้านโดยเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวอ้างว่าอาจจะมีคนร้ายหลบซ่อนอยู่จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอมในช่วงเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา ซึ่งมีการตรวจค้นบ้านในบริเวณดังกล่าวประมาณสามหลัง

ทั้งนี้บ้านพักของนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยท่านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 ตามอำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (2548) และพื้นที่ตามอำนาจพรบ.กฎอัยการศึก (2457) นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2547

ตามอำนาจพรก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (4) ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาตามคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

Advertisement

หากแต่เมื่อนักกิจกรรมท่านนี้ได้ขอดูหมายค้นตามกฎหมาย เพราะการให้ออกคำสั่งค้นต้องให้ศาลออกคำสั่งให้ค้นตามหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องมีหมายค้นจากศาลในท้องที่ เช่นเดียวกับที่เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมบุคคลก็ต้องขอให้ศาลงออกหมายควบคุมตัวที่เรียกกันว่า หมายฉฉ. เป็นต้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแสดงตนขอค้นเคหะสถานไม่สามารถแสดงหมายค้นตามกฎหมายได้เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้อ้างถึงอำนาจตามพรบ.กฎอัยการศึกซึ่งมีแนวปฏิบัติโดยพลการเป็นการทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่จะทำการตรวจค้นเคหะสถานโดยไม่มีหมายค้น และได้ทำการค้นบ้านพักของนักกิจกรรมดังกล่าวแล้วเดินทางกลับไปในวันเดียวกัน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากอาจเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ตลอดมาดังนี้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ควรใช้อย่างระมัดระวังและให้ส่งผลกระทบถึงประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งยึดมั่นถึงเจตนารมณ์ โดยเฉพาะพรก.ฉุกเฉินมีเจตนารมณ์เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติ ไม่ใช่การติดตามค้นหาผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว การอ้างอำนาจการใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม เมื่อไม่มีหมายค้นตามกฎหมาย(พรก.ฉุกเฉิน) การค้นต้องมีหมายค้นจากศาล กลับอ้างกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่งคือกฎอัยการศึก ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซี่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย

Advertisement

อีกทั้งการกระทำดังกล่าวต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลรายกรณี แต่เข้าข่ายการข่มขู่คุกคามและสร้างความหวาดกลัวนักกิจกรรมหญิงท่านนี้และครอบครัว บุคคลใกล้ชิด ชุมชน และโดยเฉพาะกับประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ.2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี องค์การสหประชาชาติต่อประเทศไทย ในการรายงานสถานการณ์สิทธิสตรีตามวาระของประเทศไทยที่รวมรายงานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เมื่อปีพ.ศ.2560 ในย่อหน้าที่ 30 ว่า คณะกรรมการฯ แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ โดยมีข้อเสนอว่า ให้มีในข้อ (b) ระบุว่าให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมทุกกรณีที่มีการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย

องค์กรภาคประชาสังคมข้อเสนอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ ส่วนหน้าดำเนินการดังนี้อย่างเร่งด่วน

ขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระ และแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อกรณีที่มีการคุกคามหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบ ใช้อำนาจสมควรแก่เหตุหรือสุจริตหรือไม่

หากพบว่าเป็นการข่มขู่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องจัดให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย ขณะนี้นักกิจกรรมหญิงท่านนี้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจจนกระทั่งต้องใช้ยาลดความเครียดเพื่อช่วยลดอาการนอนไม่หลับ และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมีความหวาดกลัวต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการข่มขู่ลักษณะเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image