เปิดวงเสวนา ‘ครบรอบ 86 ปี อภิวัฒน์สยาม’ ฟังลูกชาย ‘พระยาพหลฯ’ เล่าเรื่อง ‘คณะราษฎร’ (คลิป)

เปิดวงเสวนา ‘ครบรอบ 86 ปี อภิวัฒน์สยาม’ ฟังลูกชาย ‘พระยาพหลฯ’ เล่าเรื่อง ‘คณะราษฎร’ เผย ไม่ใช่คณะปฏิวัติ แต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบใหม่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนครูองุ่น มาลิก มูลนิธิไชยวนา มูลนิธิไชยวนา ร่วมกับ กลุ่มโดมรวมใจและเพื่อน จัดเสวนา “ครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475” โดยช่วงช่วงแรกเป็นการปาฐกถาเรื่อง “2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวว่า การปฏิวัติ 2475 ถูกลดทอนความสำคัญลง หลังการรัฐประหารปลายปี 2490 โดยการทำให้วันชาติและวันรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นวันสำคัญที่สุด มีวันหยุดอย่างละ 3 วัน เหลือวันหยุดราชการเพียงอย่างละ 1 วัน เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญในปี 2503 สมัยรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะเดียวกัน แม้วันรัฐธรรมนูญจะอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน แต่คงเป็นวันหยุดแห่งชาติที่ทุกคนงง เพราะไม่เคยคิดถึงรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง การที่วันชาติ 24 มิ.ย.สิ้นชีวิตลงในปี 2503 เป็นหลักหมายด้านการเมืองทางประวัติศาสตร์อย่างดี เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2503 เรื่อยมาถึงคณะราษฎร และการปฏิวัติ 2475 รวมทั้งสิ่งที่สร้างสรรค์ระบอบใหม่ๆ ขึ้นมานั้น จะค่อยๆ เลือนไปจากความรับรู้และความทรงจำ

พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชาย พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า จริงอยู่ที่เป็นทายาทของคณะราษฎร แต่ตนเกิดหลังการอภิวัฒน์สยามถึง 7 ปี จึงมิได้ประสบด้วยตนเอง พ่อไม่ค่อยพูดเรื่องการอภิวัฒน์เท่าใดนัก ตอนเด็กๆ ชอบเข้าไปนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน จึงได้ฟังเรื่องคณะราษฎรด้วย ทั้งนี้ คณะราษฎรไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นคณะปฏิวัติ รัฐประหาร แต่เป็นคณะที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบใหม่ ใช้คำว่า ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูธในขณะนั้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็นประชาธิปไตยภายหลัง

จากนั้นเป็นการขับร้องเพลงซอโดยคุณแม่จำปา แสนพรม และคณะนักศึกษาฟ้อนรำประกอบเพลงซอ เนื้อหาเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม

Advertisement

ต่อมาเป็นการเสวนาหัวข้อ “การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ในทัศนะของคนต่างรุ่น” โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร way ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่า มีเรื่องในมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้นและสามารถพูดได้ตลอด ไม่ได้จบลงในวันที่ 24 มิ.ย.2475 โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่ละครการเมือง ไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห่าม หากแต่เป็นการต่อสู้ของสองกระแสความคิด ระหว่างความจงรักภักดีและความรักชาติ ท้ายที่สุดความรักชาติชนะ เพราะบ้านเมืองอยู่ท่ามกลางวิกฤต ซึ่งคนสมัยนี้อาจมองว่าเป็นเรื่องของนักเรียนนอกไม่กี่คน แต่ยังมีข้อมูลที่ยังไม่รู้และยังไม่จบ เช่น จำนวนของคณะราษฎร

นายศรัญญูกล่าวว่า การปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 เป็นสิ่งที่ยังอยู่รอบตัวเรา สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาคารสองฟากถนนราชดำเนินกลาง โดยการออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ระบุตัวตนของการปฏิวัติด้วยเลขต่างๆ ไว้ ขณะเดียวกัน คณะราษฎรได้สร้างระบอบการเมืองใหม่ประกอบด้วยนโยบาย 6 ข้อคือ เอกราชของประเทศ ความปลอดภัยของประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างความมั่งคั่ง สิทธิเสมอภาคของทุกคน เสรีภาพของทุกคน และนโยบายด้านการศึกษา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นได้ระบุทฤษฎีทางการเมืองไว้ชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย

Advertisement

ด้านนายอธิคมได้เชิญชวนให้ผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยนายศักดิ์ไชย ดวงสิงห์ หรือแสงดาว ศรัทธามั่น นักเขียนและกวีชื่อดังทางภาคเหนือ ที่เสียชีวิตลงเมื่อวันก่อน พร้อมกล่าวว่า ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ ทั้งอึดอัดและภาคภูมิใจ เพราะประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน ถูกใส่ร้ายป้ายสีมานาน ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์บอกว่า 24 มิ.ย.2475 เป็นสงครามการช่วงชิงด้านสื่อในการช่วงชิงเรื่องเล่า และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่วันแรก เมื่อ 86 ปีที่แล้ว สังคมไทยมีบทเรียนและผ่านความคิดเรื่องเหล่านี้เพียงพอแล้ว โดยสิ่งที่ต้องช่วงชิงประวัติศาสตร์เรื่องเล่าดังกล่าวให้ได้คือ 2475 มิใช่การเกิดขึ้นเพราะความไม่พร้อม แต่เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องการชิงสุกก่อนห่าม แต่บริบทของสังคมพร้อมแล้ว รอเพียงกลุ่มคนที่จะทำเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image