2 ด้าน การเมือง เสรีธรรม สามัคคีธรรม ชัยชนะ พ่ายแพ้

แรกที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มอบหมายให้ นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช ไปจัดตั้งพรรคเสรีธรรมก่อนการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522

ก็คงมองเห็นทางสะดวกของ “การเมือง”

เพราะรูปแบบเช่นนี้ “นายทหาร” รุ่นก่อนหน้า ไม่ว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ล้วนเคยทำมาแล้ว

เห็นได้จากพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาติสังคม พรรคสหประชาไทย

Advertisement

แนวทางเดียวกับที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เคยกระทำในการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522 ต่อมาหลังรัฐประหาร

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็เคยกระทำในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535

ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ตอบได้เลยว่าประสบความสำเร็จ

Advertisement

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เป็นรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นรัฐบาลและมอบให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอมกิตติขจร ได้เป็นรัฐบาล

อย่าได้แปลกใจหากในเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะลอกเลียนแบบมา อย่าได้แปลกใจหากในเดือนมีนาคม 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะลอกเลียนแบบมา

เพราะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

กระนั้น ชัยชนะของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ชัยชนะของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชัยชนะของ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นเพียงด้านเดียว

ยังมีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ ความต่อเนื่อง

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประสบปัญหากระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500 รัฐบาล พล.ท.ถนอม กิตติขจร ประสบปัญหากระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องทำรัฐประหารซ้ำในเดือนตุลาคม 2501 จอมพลถนอม กิตติขจร เองก็ประสบปัญหากระทั่ง จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องทำรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514

แล้วช พล.อ.เกรียงศักดิ์ มะนันทน์ กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เล่าประสบอะไร

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บริหารราชการแผ่นดินได้ถึงปลายปี 2522 ก็ประสบปัญหาอันเนื่องแต่ราคาน้ำมัน กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกภายใน

วุฒิสมาชิกสาย “ทหาร” จำนวนหนึ่ง “แปรพักตร์”

หันไปร่วมมือกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านกดดันกระทั่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องหลั่งน้ำตาลาออกกลางสภา

แล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เข้าไปแทนที่

กล่าวสำหรับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แม้จะได้รับการสนับสนุนโดยเสียงส่วนใหญ่จากพรรคสามัคคีธรรมและพันธมิตร จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เกิดการประท้วงใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535

เพียงเวลาเดือนเศษๆ หลังการเลือกตั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็จำต้องลาออกแล้วก็จบสิ้นบทบาททางการเมืองจบสิ้นไปพร้อมกับนายทหารรุ่น 0143

จากนี้จึงเห็นได้ว่า เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ ความเคยชิน 1 ของนักรัฐประหารมักศึกษาและหยิบเอาแต่ด้านที่รุ่งโรจน์ ด้านอันเป็นชัยชนะ

แต่มักจะมองข้ามด้านที่ล้มเหลว ด้านที่พ่ายแพ้

เหมือน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตัดสินใจตั้งพรรคเสรีธรรม เหมือน พล.อ.สุจินดา คราประยูร อยู่เบื้องหลังพรรคสามัคคีธรรม

มองเห็นแต่ด้านที่ “นักการเมือง” ถูก “ดูด” มารวมตัวกัน

ขณะเดียวกัน ก็มองข้ามด้านที่พรรคการเมืองเหล่านั้นกลายเป็น “พรรคมาร” ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image