วาระแรกของประชาธิปไตยเริ่มแล้ว

-

วาระแรกของระบอบประชาธิปไตยประเทศไทยเริ่มแล้วอีกครั้งและอีกครั้ง อยู่ระหว่างพิจารณาในส่วนของเนื้อหาบทเฉพาะกาล วันที่ 18-26 มกราคม หลังจากพิจารณาเนื้อหาในมาตราอื่นทั้ง 13 หมวด 261 มาตรา ตั้งแต่วันที่ 11-17 มกราคมที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18-26 มกราคม นอกจากพิจารณาเนื้อหาในบทเฉพาะกาลแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะหารือและสรุปอีกครั้งว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่พิจารณาไปแล้วยังมีการเพิ่มหรือปรับหรือแก้ไขส่วนใดบ้าง ก่อนจะส่งร่างแรกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบในวันที่ 29 มกราคม

ระหว่างนี้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง สุดท้ายคือผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้พิจารณาในรายละเอียด เพื่อส่งให้คณะกรรมการแก้ไข วันที่ 8 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้งเริ่มจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมบทเฉพาะกาลให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 28 เมษายน จำนวน 14 ล้านฉบับ เพื่อจัดส่งให้ประชาชนได้พิจารณา ประชาชนจะมีเวลาอ่านและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานร่างยาวนานไปถึงเดือนกรกฎาคม ก่อนจะได้ลงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม เพื่อส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช… และส่งขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช… ต่อไป

ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เชื่อว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงลงประชามติ โอกาสผ่านการพิจารณาย่อมมีความเป็นไปได้แน่นอน

Advertisement

เพราะการที่ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนจากผู้เกี่ยวข้อง รวมประชาชนผ่านสื่อมวลชน ในหลักการเชื่อว่าไม่มีการแก้ไขอีก แต่ในรายละเอียดอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึงวันที่ 7 เมษายน จึงยังมีเวลาพอจะแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะนำไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดพิมพ์ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ถึงวันที่ 27 เมษายน

รัฐธรรมนูญคือขั้นตอนแรกของกระบวนการประชาธิปไตย ด้วยรัฐธรรมนูญเเป็นฎหมายสูงสุดของประเทศที่ต้องบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน บัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา บัญญัติการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นใดที่เกี่ยวข้องการระบอบประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า องค์กรอิสระ

ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะกำหนดไว้น้อย เช่นสหราชอาณาจักร หรือกำหนดไว้เท่าที่ควรกำหนด เช่นสหรัฐอเมริกา และประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นสาธารณรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข หรือราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

รัฐธรรมนูญที่ดีคือรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านความเห็นชอบของปวงชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยประชาชน ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะเป็นทางอ้อม เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

การผ่านความเห็นชอบของประชาชนอาจมาจากการออกเสียงลงประชามติก็ได้ ดังเช่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อยกร่างเสร็จแล้วจะได้นำไปให้ประชาชนลงประชามติในโอกาสต่อไป คือในวันที่ 31 กรกฎาคม

กระนั้น แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปก่อนหน้านี้ จะเกิดขึ้นจากการยกร่างของคณะที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม

อาจจะมีความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดตกบกพร่องความเป็นประชาธิปไตยบ้าง หากเสียงของประชาชนยอมผ่านประชามติไปแล้ว ขอให้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งเถิดครับ

เพราะขั้นตอนต่อไปของประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image