ครม.ไฟเขียว ตั้งกระทรวงใหม่ รวมอุดมศึกษา-สถาบันวิจัย แต่ชื่อกระทรวงยังไม่ลงตัว

ครม.ไฟเขียว ตั้งกระทรวงใหม่ รวมอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย เลขาฯก.พ.ร. เผย ชื่อกระทรวงยังไม่ลงตัว คาด ได้เห็นโฉมหน้าในกุมภา ’62 ชี้ มหาลัยฯต้องเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนศก. ผลิตบัณฑิตรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ให้งานวิจัยอยู่บนหิ้ง

เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 3 กรกฎาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับหลักการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ โดยใช้ชื่อว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม

นายทศพรกล่าวว่า กระทรวงใหม่จะมีความสำคัญเพราะเป็นกระทรวงแห่งอนาคต โดยจะเป็นแหล่งรวมของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 กล่าวคือประเทศไทยที่ต้องถูกขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมเพื่อนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ระบุในยุทธศาสตร์ชาติ จึงต้องการอาจารย์และนักวิจัยในการทำภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.สร้างความรู้เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ และ 2.ภารกิจการสร้างคน คือ การผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของประเทศ

นายทศพรกล่าวว่า ในระยะแรกจะมีการรวมเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสองส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 75 ของงบวิจัยทั้งหมด โดยสถาบันวิจัยที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอยู่ประมาณ 11 แห่ง เข้ามารวมกับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นของรัฐ 84 แห่งและเอกชน 73 แห่ง ผนึกกำลังใช้ทรัพยากรร่วมกัน สามารถถ่ายเทบุคลากรจากภาคการศึกษาและภาควิจัย รวมถึงการมีพันธมิตรกับภาคเอกชน

Advertisement

“กระทรวงใหม่นี้จะทำงานในลักษณะแนวนอนซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่มีการทำงานเป็นแท่งๆ โดยการวิจัย การสอน การทำงานในภาคอุตสาหกรรมจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ครูอาจารย์ทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ส่วนนิสิตนักศึกษาก็สามารถฝึกงานในภาคเอกชนและอุตสาหกรรมได้” นายทศพรกล่าว

นายทศพรกล่าวต่อว่า กระทรวงใหม่จะแบ่งกลไกการบริหารเป็น 2 ระดับ คือ 1.ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา 1 ชุด โดยอาจแปลงโฉมจากสภาวิจัยและวิทยาศาสตร์ให้ทำหน้าที่เป็นซูเปอร์บอร์ด (super board) ดูแลการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2.ระดับปฏิบัติการ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ งานเชิงนโยบาย ซึ่งรับผิดชอบโดยสำนักงานปลัดกระทรวง และงานเชิงปฏิบัติการ ส่วนการทำงานจะมีการวิจัยหลายรูปแบบ ทั้งวิจัยขั้นแนวหน้า(Frontier Research) วิจัยขั้นพื้นฐาน(Basic Research) และวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) รวมถึงงานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

นายทศพรกล่าวถึงด้านแผนการดำเนินการว่า จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1.เสนอพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งคาดว่า สนช.จะพิจารณาแล้วเสร็จในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยระหว่างนี้ จะมีคณะทำงานที่มีรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดทำรายละเอียดของโครงสร้างอัตรากำลังและระบบงานที่ต้องเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะได้เห็นโฉมหน้าของกระทรวงใหม่

Advertisement

นายทศพร กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมครม. มีการถกเรื่องชื่อกระทรวงใหม่ว่าควรใช้ชื่อใดจึงจะมีความเหมาะสม เนื่องจากต้องการสื่อว่ากระทรวงใหม่จะไม่ใช่อุดมศึกษาเพื่ออุดมศึกษา แต่เป็นอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศไทยและต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องยนต์กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแรงขึ้น อีกทั้ง ครม.เข้าใจดีว่าการใช้ชื่อใดขึ้นต้นก่อนก็อาจมีความหมายสำหรับบางกลุ่ม โดยยังมีเวลาสำหรับการตั้งชื่อกระทรวง และระหว่างการยกร่างกฎหมายอาจมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

“ หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าอยากให้กระทรวงนี้สื่อให้ชัดว่าเป็นกระทรวงที่ต้องคิดค้น เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเมื่อต่างประเทศเขามองเรา เขาจะได้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเน้นการปฏิรูปกระทรวงเพื่อผลิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุกคนที่ทำงานในกระทรวงต้องได้รับโจทย์ที่เห็นภาพชัดเจน แต่เราไม่ได้ปฏิเสธการทำงานเชิงวิชาการ เพียงแต่งานหลักคือต้องพุ่งเป้าใช้กลไกสถาบันอุดมศึกษา ครูอาจารย์ รวมทั้งนักวิจัย ช่วยสร้างประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ที่เราได้วางไว้ ” นายทศพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งกระทรวงใหม่นี้จะส่งผลต่อมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วอย่างไร นายทศพรกล่าวว่า ไม่มีความขัดข้องใดๆ มหาวิทยาลัยนอกระบบก็มี พ.ร.บ.ของตัวเอง เพียงแต่กลไกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆมีทิศทางร่วมกันว่าต้องทำวิจัยเพื่อมุ่งเป้าการพัฒนาประเทศมากขึ้น

“ ครม.ไม่ได้ต้องการให้การตั้งกระทรวงใหม่เป็นเหมือนขนมชั้นที่เป็นแค่การรวมกันเฉยๆ แต่ต้องการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนระบบและวิธีการทำงาน เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เพราะถ้ายังทำงานเป็นแท่งๆก็จะเหมือนเดิม กระทรวงนี้จะตอบโจทย์ว่างานวิจัยจะไม่อยู่บนหิ้ง แต่ใช้ความต้องการคืออุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ” นายทศพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image