“นิกร จำนง” มองสูตรการเมือง ตาม รธน.ฉบับ “เปลี่ยนผ่าน” เมื่อ รบ.ใหม่ไร้เสถียรภาพ

"นิกร จำนง" มองสูตรการเมือง ตาม รธน.ฉบับ "เปลี่ยนผ่าน" เมื่อ รบ.ใหม่ไร้เสถียรภาพ

“นิกร จำนง” มองสูตรการเมือง ตาม รธน.ฉบับ “เปลี่ยนผ่าน” เมื่อ รบ.ใหม่ไร้เสถียรภาพ

“น่าเห็นใจ เพราะในมุมมองของ กรธ. ก็คงถอยให้เต็มที่แล้ว แต่ก็ต้องถอยให้ลึกไปอีกก้าวหนึ่ง จนหลังพิงฝาถอยต่อไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่มาและอำนาจ ส.ว. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

เป็นความรู้สึกของ “นิกร จำนง” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มือขวาคนสำคัญของ “ป๋าเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันมีหมวกอีกใบเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เมื่อถูกถามความเห็นต่อกรณี กรธ. ตัดสินใจปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ปราบโกง” ตามข้อเสนอของรัฐบาลเป็นครั้งที่สอง หลังเกิดกระแสความไม่พอใจจาก “รัฐบาล-คสช.” ที่มีต่อ กรธ. เนื่องจากไม่ยอมปรับตามข้อเสนอ

เพราะในมุมมองของ คสช. หากปล่อยให้อำนาจของ ส.ว. ในช่วงเปลี่ยนผ่านปรับเปลี่ยนไปตามที่ กรธ. ปรับแก้ครั้งแรก เป้าหมายเดิมที่ คสช. จะดูแลประเทศต่อไปอีก 5 ปี จะมีอุปสรรคทันที

แม้จะรู้สึกว่า กรธ. จะต้องถอยอีกก้าวจนหลังพิงฝา แต่ในทัศนะของ “นิกร” ยังมองว่า กรธ. สามารถรักษาระยะของตนเองเอาไว้ได้ เพราะยังยืนยันที่จะไม่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้ตามที่รัฐบาลเสนอ

Advertisement

“จุดนี้ กรธ. ยังรักษาครึ่งก้าวที่เหลือไว้ได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากนะ เพราะเป็นข้อเสนอที่จะเปิดให้มีการข้ามฟากกันของอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่าน ไม่เคยมีฉบับใดที่ให้ ส.ว. มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม. ได้” นายนิกร กล่าว

เช่นเดียวกับ การที่ยืนยันความเห็นของ กรธ. เอง ที่ต้องการให้พรรคการเมืองต้องเปิด 3 รายชื่อนายกรัฐมนตรีอยู่ แม้จะเพิ่มอำนาจให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนในการปลดล็อกบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่ก็ยังถือว่า กรธ. ยังไม่ได้ให้ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลมีอำนาจในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ทั้งนี้ ตามข้อเสนอแนะของพรรคชาติไทยพัฒนาต่อประเด็นที่มาและอำนาจของ ส.ว. ที่ส่งไปถึง กรธ. นั้น “นิกร” บอกว่า พรรคสนใจเรื่องอำนาจมากกว่าที่มา เพราะหากมีอำนาจเพียงแค่กลั่นกรองกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวจะให้ ส.ว. มาจากการสรรหา หรือแม้จะเป็นการแต่งตั้งทั้งหมดก็ยังรับได้

Advertisement

ทว่า การกำหนดให้ที่มา ส.ว. บทเฉพาะกาล หลังจากการปรับแก้รอบสุดท้ายของ กรธ. แม้จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ทางหนึ่ง ให้มาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการจำนวน 200 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีโควต้าของ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ รวม 6 เก้าอี้ล็อกไว้ตามที่ คสช. เสนอด้วย

และอีกทางหนึ่งให้มาจากการเลือกตั้ง ไขว้จากกลุ่มอาชีพ จำนวน 50 คน โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้ดำเนินการ

แต่ที่สุดก็ต้องเสนอให้ คสช. คัดเลือกทั้ง 2 รูปแบบอยู่ดี

“ถ้าออกมาเป็นแบบนี้ จะเรียกว่า เป็น ส.ว. จากการแต่งตั้งก็ยังได้เลย เพราะแต่งตั้งตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง โดย คสช. เป็นคนตั้งคณะกรรมการสรรหา เมื่อเลือกได้ ขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องส่งให้ คสช. คัดอีกที” นายนิกร ขยายภาพ

ขณะที่ ปมอำนาจชั่วคราวของ ส.ว. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล ก็ยังมีอำนาจมากไปกว่าการกลั่นกรองกฎหมาย เพราะจะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ติดตามเร่งรัดการปฏิรูป โดยรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านต้องรายงานผลการปฏิรูปทุก 3 เดือนให้ ส.ว. ทราบ

และยังมี “อ็อปชั่นพิเศษ” สำหรับสถานการณ์พิเศษที่สามารถร่วมโหวตกับ ส.ส. โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้สภาขับเคลื่นเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังเสนอให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติด้วย ว่าในระยะ 5 ปี จะให้รัฐสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอาด้วย อำนาจของ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

เมื่อดู “ที่มา” และ “สัดส่วน” รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ชั่วคราวของ ส.ว. ทั้งหมดแล้ว หาก ส.ว. มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญได้ เมื่อครบกำหนด 5 ปี ตามระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว จะมีการต่ออายุ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลนี้ให้ยืดยาวออกไปหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาตามความเห็นของกุนซือหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

“ผมจึงอยากขอคำยืนยันในอนาคตด้วย เพราะเมื่อมีอำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญกันไม่ให้คนอื่นแก้ จึงต้องพิทักษ์ตัวเองด้วย โดยจะไม่มีการแก้ไขให้อำนาจชั่วคราวของตัวเองตามบทเฉพาะกาลนี้ เป็นอำนาจไปตลอดกาลตามรัฐธรรมนูญ เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการเอาเปรียบกันในทางการเมือง”

อย่างไรก็ตาม หากสมมุติว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ของไทยจริง ถ้านำองค์ประกอบตามโครงสร้างทางการเมืองทั้งบทบัญญัติหลัก และบทเฉพาะกาลเพื่อหาสูตรการเมืองไทยในอนาคตนี้ มาเป็นโจทย์ให้คนระดับกุนซือหัวหน้าพรรคขนาดกลางช่วยวิเคราะห์

แน่นอนว่า “นักการเมืองรุ่นเก๋า” ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ผ่านกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญของไทยมาหลายฉบับ อย่าง “นิกร” คงต้องเลือก “วิธีการเลือกตั้ง” มาเป็นปัจจัยตั้งต้นในการวิเคราะห์

“นิกร” ชี้ชัดว่า การที่ กรธ. ยึดวิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมไว้ จะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เล็กลง ซึ่งอาจจะได้ ส.ส. แบบเขตเพิ่มขึ้น แต่จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง สำหรับพรรคขนาดเล็กจะอันตรายมาก เพราะต้องส่งผู้สมัครจำนวนมาก โดยที่ตัวเองมีสายป่านไม่ยาว แต่ต้องสู้กับพรรคขนาดใหญ่ จึงยากมากที่จะชนะ เมื่อไม่ได้ ส.ส. แบบเขต ก็จะไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อพรรคขนาดใหญ่เล็กลง พรรคขนาดเล็กก็สู้ลำบาก จึงทำให้พรรคขนาดกลางมีโอกาสเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีจำนวนพรรคการเมืองใหม่ที่มีขนาดกลางเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าที่มีอยู่เดิม ด้วยบริบทแบบนี้ จึงมองไม่ออกว่าพรรคไหนจะได้ตั้งรัฐบาลก่อนกัน เพราะการเมืองหลังจากนี้จะมีรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน จึงอยู่ที่ว่า ฝ่ายไหนจะใช้วิธีการทั้งบนดินและใต้ดินรวมพรรคได้มากกว่ากัน

และเมื่อเป็นรัฐบาลผสมจึงทำให้เสถียรภาพรัฐบาลต่ำแน่ๆ แต่ต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องสร้างสมดุลในเรื่องนโยบายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ยิ่งรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านจะต้องตกอยู่ภายใต้กรอบที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งหน้าที่ของรัฐ ทั้งแนวนโยบายแห่งรัฐ ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวาระการปฏิรูป โดยที่จะมี ส.ว. เป็นผู้กุมบังเหียนอยู่

ตามความเห็นของ “นิกร จำนง” ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลทำให้รัฐบาลต่อไปทำงานยาก เพราะมีแรงกดดันมาก โดยจะไม่มีผลงานตอบสนองตามที่ประชาชนเรียกร้องได้ เนื่องจากไม่มีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

เพราะต้องแบกภาระอันเนื่องมาจากกรอบตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ “เปลี่ยนผ่าน” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image