“พลังประชารัฐ” พรรคหัวขาด มีกระสุน แต่ไม่มีกระแส

“พลังประชารัฐ” เจาะฐานเสียง “เพื่อไทย” ไม่เข้า พื้นที่อีสานก็เหนื่อย ภาคเหนืองานยาก ภาคตะวันออกพื้นที่อีอีซี ใครว่าง่าย

ที่เป็นอย่างนี้ อาจเป็นไปได้ว่า เนื่องจากก่อตั้งพรรคใหม่ จะว่าไปความเป็นพรรคการเมืองสมบูรณ์ยังไม่มีด้วยซ้ำ

จึงไม่แปลกที่ผลโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบางสำนัก ประชาชนให้ความสนใจพรรคนี้แค่ 17 %เศษเท่านั้น

ติดอันดับ 4 ทั้งที่ฟอร์มใหญ่ แบ๊กดี กำลังภายในสูงส่ง แต่พรรคที่เพิ่งตั้งไข่ จะนำไปเปรียบเทียบกับพรรคอื่นเต็มๆคงไม่ได้ โดยเฉพาะกับเพื่อไทย ประชาธิปัตย์

Advertisement

ที่ตั้งมาก่อนมานาน ผ่านศึกเลือกตั้งโชกโชน เพราะฐานมันต่างกัน

แต่พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่า ต้องเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่เท่านั้น

ตัวอย่างมีให้เห็น อย่างพรรคไทยรักไทย หรือในชื่ออื่นใด พลังประชาชน และเพื่อไทยในปัจจุบัน

Advertisement

ก่อตั้งไม่ถึง 20 ปี แต่สามารถโค่นล้ม เอาชนะประชาธิปัตย์พรรคการเมืองเก่าแก่มาได้ทุกครั้ง

ผูกขาดชนะเลือกตั้ง นับแต่ลงสนามครั้งแรก เลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 กระทั่งครั้งสุดท้ายปี 2554
ชนะตลอดถึง 3 ครั้ง 3 ครา

เพียงแต่ว่า พรรคพลังประชารัฐที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกครั้งนั้น

อาจต้องยกเว้นให้ เพราะยังไม่เคยลงเลือกตั้งสนามจริง
แพ้หรือชนะยังไม่รู้

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน เตรียมการเบื้องต้น การนำไปเรียงเคียง เทียบกับเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อาจไม่แฟร์กับพลังประชารัฐเท่าใดนัก

หากจะเปรียบเทียบ ระนาบเดียวกันที่ใกล้เคียงที่สุดคงเทียบได้กับพรรคอนาคตใหม่

เป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชุดเดียวกันของดุสิตโพล ระบุว่า ยึดตำแหน่งที่2 รองจากเพื่อไทย

ประชาชนให้ความสนใจพรรคอนาคตใหม่34.18%สูงกว่าเป็นเท่าตัว เทียบกับพลังประชารัฐ

แต่ก็เปรียบเทียบ อะไรไม่ได้มาก-ทั้งหมด

เนื่องจากอนาคตใหม่ มีหัวหน้าพรรค มีเลขาธิการพรรค เป็นตัวตนชัดเจนแล้ว

ขณะที่พลังประชารัฐ ยังเป็นพรรคผีหัวขาด

ชื่อ บิ๊กอุ-อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ คู่ดูโอที่ มีกระแสข่าวในตำแหน่งหัวหน้า และเลขาฯ จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีความชัดเจน แน่นอน

เมื่อไม่มีหัวหน้า เลขาฯ ตัวท็อป ตัวแทนแสดงบทบาทการเมือง

จึงอาจไม่มีใครรู้จัก ซึ่งส่งผลต่อความสนใจของประชาชน และคะแนนนิยมในที่สุด

แต่การมีหัวหน้า มีเลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ ที่มองทะลุได้ถึงเบื้องหน้า เบื้องหลักชัดเจน กรณีนี้อาจไม่ได้เป็นเครื่องการันตี จะได้รับความสนใจ คนนิยม

เพราะเมื่อชัดเจน ประชาชนก็ย่อมจำแนกแยกแยะได้ง่าย

การตัดสินใจก็ชัดเจนอีกลำดับ

ระหว่างฝ่ายไม่เอารัฐบาลทหาร กับฝ่ายนิยมชมชอบลายพราง เป็นดาบสองคมเหมือนกัน

เป็นไปได้สองทาง อาจบีบแคบช่องว่างให้เล็กลง หรือขยายเพดานถ่างกว้าง ออกไปยิ่งกว่าเดิม

แต่ ณ วันนี้ วันที่พรรคพลังประชารัฐยังคลุมเครือ

กระแสความนิยมในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ชี้เป็นชี้ตายผลการเลือกตั้งนั้น ค่อนข้างเบาบาง อย่างชนิดน่าเป็นห่วง

จะเรียกว่า เจาะไม่เข้าก็ได้ หรือดำเนินไปอย่างที่แวดวงการเมืองพูดกันอื้ออึงว่า มีกระสุน แต่ไม่มีกระแสนิยม

ทั้งนี้ทั้งนั้น เอเยนต์จากส่วนกลาง และในภูมิภาค ไล่มาตั้งแต่บิ๊กลายพราง เสนาบดี มือไม้ระดับรองๆลงไป

หลายต่อหลายสาย ต่างไล่จีบ ทาบทามตามตื๊อ อดีตส.ส.เกรดเอในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย และรวมถึงนักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น-อปท.

มีการเดินสายดูดทุกทิศทุกทาง ทั้งที่อ้างสายตรง สายรอง เกือบทุกสาย วนเวียนทาบทาม

อดีตส.ส.เสียงดี เนื้อหอม ถูกรุมตอมซ้ำ รับแขก รับนัดไม่หวาดไม่ไหว

มีการหยิบยื่นข้อเสนอ สิทธิประโยชน์ จัดเต็มโปรโมชั่น แต่ก็ดูดได้เกรดเอ ของดีไม่กี่คน

เพราะอดีตผู้แทนที่เกาะติดพื้นที่ ใกล้ชิดประชาชน กระแสกลิ่นรู้ดีว่า สถานการณ์แบบนี้

สถานการณ์ที่ไม่มีกระแสตอบรับพลังประชารัฐแบบนี้ ย้ายไปก็เหนื่อย เงินทองที่ได้มา ไม่ยั่งยืน มีหน้าตามีค่าเท่ากับการเป็นส.ส.

นี่เป็นโจทย์ใหญ่โหดหิน ของพรรคพลังประชารัฐ ในภาคเหนือ และอีสาน

แม้แต่ภาคตะวันออก นักการเมืองที่โดดร่วมหอลงโรงกับรัฐบาลก็บ่นพึม

ถึงจะแยกกันอยู่ สู้ในนามพรรคเดิมต่อ ไม่ควบรวมพลังประชารัฐ

แต่การเป็นแนวร่วม พันธมิตร ก็ลำบากมิใช่น้อย หากปุบปับเลือกตั้ง อาจพัง แพ้ได้ง่ายๆ เนื่องจากกระแสต้านทหารยังอยู่ระดับสูง

ที่ทำให้พอใจชื้นขึ้นหน่อยก็ตรงที่ยังพอมีเวลา เคลียร์ ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เหตุใดถึงต้องมาอยู่ขั้วข้างฝั่งนี้

แต่นักการเมืองภาคตะวันออก ก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี ว่าที่จะนำเรื่อง”อีอีซี”อภิมหาโปรเจ็กต์หลายแสนล้าน

ไปโน้มน้าว จูงใจประชาชนว่า คนในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างน้อย 3 จังหวัดได้รับประโยชน์โดยตรง ถึงได้ย้ายมาอยู่กับรัฐบาล

“อีอีซี”จะช่วยอุ้มเข้าสภาฯได้จริงหรือไม่

กลับไปที่อีสาน

พรรคภูมิใจไทย เบอร์2 รองแชมป์เลือกตั้ง รองจากเพื่อไทย ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก

เหตุชาวบ้านติดใจนโยบายประชานิยม-แก้จน ยังฝักใฝ่ ทักษิณ ชินวัตร เห็นใจยิ่งลักษณ ชินวัตร

ภูมิใจไทยอาจยึดเมืองหลวง อย่างบุรีรัมย์เอาไว้ได้ รวมถึงเมืองรองใกล้เคียงอีสานใต้ แต่อย่าได้หวังขยับขยาย รุกคืบกินแดนแย่งที่นั่งส.ส.เพื่อไทย

พื้นที่นี้ ชาวบ้านจดจำ ฝังใจ เหตุการณ์”เนวิน ชิดชอบ”หักหน้า แปรพักตร์ พลิกขั้วโหวตหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งนายกรัฐมนตรี

ถึงวลี “มันจบแล้วครับนาย”
แต่ที่นั่น ไม่จบยันวันนี้

แน่นอน ยามนี้เพื่อไทยในภาคเหนือ อีสาน ไม่ได้อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งเหมือนอดีต แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต เลวร้าย

อย่างน้อยฐานเสียงสนับสนุนก็ยังอยู่ และมากพอ เหนือกว่า พรรคอื่นอย่างชนิดทิ้งห่าง ไม่ติดฝุ่น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐยังห่างไกลจากคำว่าสู้ได้

เพราะมีแต่กระสุน แต่ไม่มีกระแส

กลุ่ม 3 มิตร 3 ช่า อีกหัวหอกแยกกันเดิน มุ้งใหญ่พลังประชารัฐนั้นเล่า ดูจากรายชื่ออดีตส.ส.ที่นำมาอวดโชว์เป็นผลงาน ตัวท็อปความหวังฐานดีก็มีนับหัวได้
จึงฝากฝีฝากไข้ได้ยาก

การที่มีกระแสข่าว การทุ่มเงินให้อดีตส.ส.บางคน 2 พันล้าน เพื่อตั้งเป็นพรรคสาขาใหม่ลายพรางในภาคอีสาน

เป็นภาพสะท้อนของการเจาะไม่เข้า ที่ต้องแก้เกม พลิกแพลง หากลยุทธ์ใหม่สู้เพื่อไทย เนื่องจากพรรคที่ไล่เรียงมานั้นขายไม่ได้ ไม่มีกระแสตอบรับ

น่าสนใจ-ติดตามเป็นที่ยิ่งว่า ในสถานการณ์การต่อสู้ ในสมรภูมิเลือกตั้งที่(พรรค)ลายพรางไม่เจนจัด ชี้นิ้วสั่งการไม่ได้นั้น บิ๊กๆคนดังผู้อยู่เบื้องหลัง

จะแก้เกม ตีตื้นอย่างไร ไม่ให้เสียของ แพ้เลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image