ที่เห็นและเป็นไป : ความหมายของ‘ฮีโร่’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ท่ามกลางความยินดีปรีดาด้วยในที่สุด “เด็ก 12 และโค้ชอีก 1 รวมเป็น 13 คน” จาก “ทีมนักฟุตบอล หมูป่าอะคาเดมี่” ที่ติดในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เชียงราย ก็รอดปลอดภัย หลังจากติดตามด้วยใจระทึกกันทั่วมา 10 วัน

หลังจากหายใจทั่วท้อง ต่างคนต่างพากันสรุปบทเรียนกันยกใหญ่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ความรู้ ความคิดอะไรบ้าง

มีความคิดหนึ่งที่เอามาเผยแพร่กันกว้างขวาง คือ “อย่าเห็นและอย่ายกย่องเด็กทั้ง 13 คนเป็นฮีโร่” โดยเฉพาะโค้ชซึ่งอายุ 25 ปี เลยวัยเด็กไปแล้ว หลายความเห็นออกมาทำนองควรจะลงโทษหรืออย่างน้อยต้องตำหนิที่พาเด็กๆ ไปอยู่ในอันตราย

เป็นความคิดที่เห็นดีเห็นงามกันมากมาย

Advertisement

ที่จริงเรื่องที่น่าคิดมากของเหตุการณ์ “ทีมหมูป่าติดถ้ำ” ครั้งนี้ คือเป็นเหตุการณ์ที่พิสูจน์ได้ว่าคนไทยเรามีน้ำจิตน้ำใจล้นเหลือ

เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติ ต่างคนต่างกุลีกุจอหาทางช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ไปช่วยในพื้นที่ไม่ได้ก็แสดงออกในทางให้กำลังใจทุกวิถีทางที่จะทำได้

ถ้าพลังใจเหล่านี้ส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมก็น่าจะท่วมท้นมหาศาล

Advertisement

คนที่ไปในพื้นที่ได้ก็ทำทุกอย่าง ลงแรง ลงทุน ทำทุกอย่างที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการช่วยเหลือ จนสื่อมวลชนจากต่างประเทศงุนงงกับความมหาศาลของน้ำใจคนไทยไปทั่วทั้งโลก

แต่ที่เป็นบทเรียนจริงๆ คือ เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดน้ำจิตน้ำใจที่ไหลบ่าท่วมท้นมหาศาลของคนไทยเรานั้น น่าเสียดายที่มีแต่ปริมาณ แต่ขาดองค์ความรู้ที่จะช่วยกู้ภัยพิบัติ

ง่ายๆ ก็อย่าง “องค์ความรู้เรื่องดำน้ำในถ้ำ” อย่างที่ “ทีมช่วยเหลือจากอังกฤษ” มีมาและแสดงให้เห็น

แสดงให้เห็นองค์ความรู้แบบไม่คิดจะโฆษณาประชาสัมพันธ์

ว่าง่ายคือ “ไม่ได้มาเพราะปรารถนาการชื่นชมว่าเป็นฮีโร่”

ถ้าความหมายของคำว่า “ฮีโร่” คือการช่วยเด็กๆ ให้พ้นจากวิกฤตของชีวิตได้ “องค์ความรู้” ของ “ทีมงานดำน้ำในถ้ำจากอังกฤษ” ย่อมรับความชื่นชมความเป็นฮีโร่ไปเต็มๆ

พร้อมๆ กับความชื่นชมให้ทุกคนที่มีน้ำจิตน้ำใจเสียสละให้กันและกัน

ไม่มีใครคัดค้านความเป็น “ฮีโร่” ของผู้มีน้ำใจเหล่านี้

เว้นแต่ “เด็ก 12 คน กับโค้ชอีก 1 คน” ที่ไปติดอยู่ในถ้ำ เสียงเตือนว่า อย่าไปมองว่าเป็น “ฮีโร่”

“โค้ช” ดูจะโดนเรียกร้องให้ตำหนิว่าพาเด็กไปเผชิญชะตากรรมชีวิตที่รุนแรง

ในเรื่องนี้หากมองกันให้ดีๆ เอา “การทำให้เด็กอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตชีวิต” เป็นคุณค่าที่ควรยกย่องชื่นชม

มีความเป็นจริงในการจัดการของโค้ชที่เข้าข่ายคุณค่าเช่นนี้แบบเต็มๆ

ชีวิต 10 วัน 10 คืนในถ้ำที่มืดมิด ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่รู้วันรู้คืน และไม่มีความหวัง เพราะทางออกจากถ้ำถูกปิดด้วยกระแสน้ำที่ไหลบ่าเข้าไปไม่หยุดหย่อน จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

ถ้าไม่มีโค้ชที่เปี่ยมด้วยสติ และมีองค์ความรู้ในเรื่องการดำรงชีวิตในวิกฤต ด้วยการบอกเด็กๆ ให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด อยู่นิ่งๆ ให้มาก เพื่อรักษาพลังกายไว้ และเพื่อไม่ให้พลังใจกระจัดกระจายถูกทำลายไปด้วยความตื่นกลัว โค้ชสอนให้เด็กๆ ทำสมาธิเพื่อให้จิตนิ่ง ไม่ถูกความหวาดวิตกครอบงำ

ยังมีถ้าหิวให้กินน้ำที่หยดลงมาจากหินงอก หินย้อยในถ้ำ เพราะเป็นน้ำที่สะอาดพอ ที่จะไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ

เหล่านี้เป็น “องค์ความรู้” ทั้งนั้น

เป็น “องค์ความรู้” ที่ชัดเจนว่าสามารถช่วยให้เด็กอยู่รอดเพื่อรอความช่วยเหลือจากภายนอกได้

ลองนึกดูว่าถ้าไม่มี “องค์ความรู้เหล่านี้ของโค้ช” จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ ที่ติดในถ้ำซึ่งทางออกถูกปิดด้วยน้ำที่ไหลบ่าเข้าไปไม่ยอมหยุด

“องค์ความรู้” เรื่อง “การดำน้ำในถ้ำ” ของ “ทีมจากอังกฤษ” ช่วยให้พบเจอเด็ก

แต่ “องค์ความรู้ของโค้ชดังที่กล่าวมา” ก็ช่วย “รักษาเด็กไว้รอการพบเจอจากทีมค้นหาได้อย่างปลอดภัย และยังแข็งแรง”

ว่าไป “เด็กเหล่านี้” ก็เข้มแข็ง และช่วยเหลือตัวเองให้ “ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย” ได้

ถ้าความหมายของ “ฮีโร่” คือการช่วยเหลือชีวิตเหล่านี้ให้พ้นจากวิกฤต

และสังคมไทยพร้อมจะมอบความเป็นฮีโร่ให้กับทุกคนที่มีน้ำใจ

แล้วจะเสียหายอะไรที่จะหยิบยื่นความเป็น “ฮีโร่” ให้ “โค้ช” และ “เด็กๆ เหล่านี้ด้วย”

 

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image