09.00 INDEX บทบาท ทหาร ในการดูด โยนหินถามทาง “การเมือง”

ไม่ว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ไม่ว่า พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร มทภ.2 ในฐานะ ผบ.กกล.รส.ภาค 2 ล้วนออกมาปฏิเสธ
“ทหาร” ไม่เกี่ยวข้องกับ “การดูด”
“ทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูด ส.ส.ในพื้นที่ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของทหาร”
“เพราะสิ่งนั้นเป็นงานการเมือง”
เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ไม่ว่าจะมองในระดับ “กองทัพบก” ไม่ว่าจะมองในระดับ “กองทัพภาค” ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม วกวน
“หน้าที่หลักของกองทัพ คือ ภารกิจการดูแลรักษาความมั่นคงและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย”
นี่คือภาระธุระของ “กองทัพแห่งชาติ”อย่างแท้จริง

ยิ่งโรดแมป”เลือกตั้ง”เคลื่อนเข้ามาใกล้มากเพียงใด ภาระธุระของกองทัพ ของทหารจะยิ่งมีความอ่อนไหวมากเพียงนั้น

คำถามก็คือ จะเหมือนเมื่อตอน”ประชามติ”หรือไม่
หลายคนคงยังจำกันได้ว่าบรรยากาศในห้วงแห่งการทำ”ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญก่อนเดือนสิงหาคม 2559 บทบาทของทหารเป็นอย่างไร
เป็นบทบาทในการสกัดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ตรงกันข้าม เป็นบทบาทที่กะเกณฑ์คนให้ไปลงประชามติในทางที่เห็นด้วย
คนที่ไม่เห็นด้วยยังต้อง”คดีความมั่นคง”อยู่ตราบทุกวันนี้
บรรยากาศในแบบ”ประชามติ”จะนำมาใช้อีกหรือไม่ในห้วงแห่ง “การเลือกตั้ง” เป็นคำถามที่ก้องกังวานอยู่
และกระบวนการ”ดูด”เป็น”กรณีตัวอย่าง”
สะท้อนให้เห็นว่า กองทัพและทหารไม่สามารถนำเอากระบวนการอย่างที่เคยใช้ในตอน”ประชามติ”มาปฏิบัติอีก
หรือถึงอยากทำก็ไม่น่าจะราบรื่น

ถามว่าเหตุใดฝ่ายการเมืองจึงต้องโวยวายและทิศทางของการโวยวายก็ออกไปในแนวที่ตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของกองทัพบทบาทของทหาร

Advertisement

นี่คือกระบวนท่าอย่างที่เรียกว่า “โยนหินถามทาง”
ด้านหนึ่ง เท่ากับเป็นการป้องปราม ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เท่ากับเป็นการหยั่งกระแส
เพื่อสร้างบรรทัดฐาน”ทหาร”กับ”การเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image