ย้อนดู ‘น่าที่ทหารรับใช้’ ใน ‘กฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ.2455’

หมายเหตุ – คำว่า “น่าที่” สะกดตามเอกสารเก่า ตรงกับคำว่า “หน้าที่” ที่ใช้ในปัจจุบัน

แม้ในวันนี้สังคมไทยไม่มีระบบศักดินาเจ้าขุนมูลนายแล้ว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมจนแทบจะชินคือกรณีทหารรับใช้ ที่ตกเป็นข่าวทุกปี หากจะจำกันได้ กรณีหลังๆ เช่นกรณี พลทหารบุกร้องเรียนนายกฯ ถูกนายทหารอดีตนายพลทหารเรือจับทหารรับใช้ล่ามโซกับยางรถยนต์เนื่องจากไม่สามารถทำงานบ้านได้ตามที่ต้องการ หรือล่าสุดคือกรณีนายทหารสั่งให้พลทหารไปเลี้ยงไก่ ทั้งที่ตั้งใจมาสมัครเป็นทหาร แต่ต้องไปเลี้ยงไก่ หากเลี้ยงไม่ดีก็จะถูกทำโทษด่าทอทำร้าย สุดท้ายทนไม่ไหวต้องเฟสบุ๊กไลฟ์ แฉ จนล่าสุดเป็นข่าวดัง ผู้บัญชาการทหารบกสั่งสอบและหากผิดพลาดจะดำเนินการทางวินัยเด็ดขาด

ทั้งนี้การนำทหารรับใช้ไปใช้งานที่บ้านมิใช่เป็นเพียงจารีตประเพณีเท่านั้น แต่ในอดีต เคยมีการออกกฏหมายเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงกลาโหม โดยเรียกว่ากฎลักษณะปกครองและระเบียบการภายในสำหรับกองทัพบก ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน รศ. 131 เล่มที่ 29  หน้าที่ 41 – 42  ข้อ3  มีสาระสำคัญเช่น

-ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ไปอยู่กับนายทหารสัญญาบัตรเรียกว่าทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร

Advertisement

-เฉพาะนายทหารสัญญาบัตรซึ่งมีหน้าที่ปกครองทหารในกรมกองทหารเท่านั้นที่จะมีทหารรับใช้ได้

-นายทหารผู้ช่วยพลรบถึงแม้ประจำอยู่ในกรมกองทหารก็มิให้มีทหารรับใช้

-สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกทหารไปเป็นทหารรับใช้นั้น กำหนดว่าจะต้องเลือกกับพวกที่ได้ฝึกสั่งสอนมาแล้วครบหนึ่งปี  มีนิสัยดีมั่นคง

Advertisement

-และถ้าเป็นไปได้ควรเอาแต่ผู้ที่สมัครใจ โดยเวลาจัดให้ไป ให้ลงในคำสั่ง กรม

-ในข้อที่54 ระบุว่าทหารรับใช้มีหน้าที่ปฏิบัตินายทหารที่ตนไปอยู่ด้วย และรับใช้ บุตร ภรรยา ของนายทหารผู้นั้น ในกิจการบ้านเรือนทุกประการ

-ทหารรับใช้ต้องแต่งเครื่องแบบทหารตามข้อบังคับ จะแต่งกายอย่างอื่นเช่นแต่งเครื่องแต่งกายสำหรับคนใช้ธรรมดาหรือแต่งเครื่องแบบคนขับรถไม่ได้เป็นอันขาด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image