The Hel(l)met show EP.101 : มหากาพย์ชุมชนป้อมมหากาฬ ติดกับผังเมืองเก่า เยือนเหย้าผังเมืองใหม่

ไล่ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนดั้งเดิมสุดท้ายในกรุงเทพ

ชุมชนป้อมมหากาฬ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปัจจุบันมีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ

ต่อมาในปี 2535 กรุงเทพมหานครประกาศ พ.ร.ก.เวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนป้อมหากาฬเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะตามโครงการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อแต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้ามา และในปี2547 ชาวชุมชนได้ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม.มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กทม.ได้เริ่มเคลื่อนไหวที่จะไล่รื้อชุมชนอีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าชาวบ้านรับเงินค่าเวนคืนที่ดินไปแล้ว และ สตง.ได้เร่งรัดมายังกทม.เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ ขณะที่นักวิชาการหลายคน ได้ออกมาเสนอแนวทางพัฒนาเช่นกัน และไม่เห็นด้วยที่จะรื้อย้ายชุมชน เพราะชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนประวัติศาสตร์แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ

Advertisement

อ.พิชญ์ มองว่าคนที่มีรายได้น้อยมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองได้อย่างมีศักดิ์ศรีได้มากน้อยแค่ไหน และกทม.เองมีสิทธิ์รื้อย้ายชุมชมตั้งแต่ปี2547 แล้วทำไมตอนนั้นถึงยังไม่ทำ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองท้องถิ่นนั้นสำคัญ ทุกครั้งที่มีการหาเสียงผู้ว่าคนใหม่ลงไปในพื้นที่ เขาก็ต้องทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับชุมชน เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญ แต่ในวันนี้การเมืองไม่ได้ทำงานแล้ว ผู้ว่าก็ขาดการสนับสนุนจากพรรค ทำให้ชุมชนขาดที่พึ่งและเมื่อผู้ว่าหยุดหน้าที่ดูแลทุกข์สุขให้ชาวบ้าน ก็ยิ่งง่ายต่อการรื้อถอนชุมชน  เมื่อย้ายชาวบ้านออกไปแล้วหาที่อยู่ให้ใหม่ สามารถทำอาชีพเดิมได้หรือป่าว รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางทีการวางผังเมืองใช่ว่าจะมองเห็นถึงความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมองเพื่อลดความขัดแย้ง และสามารถให้ทุกคนใช้พื้นที่ร่วมกันได้

ด้านคุณสุรนันทน์ มองว่าชอบชีวิตแบบที่มีการรวมตัวและใช้ชีวิตในชุมชน ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องแยกกันอยู่และก็ไม่จำเป็นต้องแยกชุมชนออก เพื่อให้เกิดความสวยงามเสมอไปแต่ในขณะเดียวกันถ้าอยู่ริมน้ำและมีพื้นที่ไปขวางทางน้ำมากเกินไป อันนี้เห็นด้วยที่ต้องมีการหารือกับชุมชน ที่ว่าเราต้องทำอย่างไร ส่วนไหนที่อยู่ได้และส่วนไหนสามารถรื้อถอนได้

 

Advertisement

ติดตามรายการ “The Hel(l)met Show หมวกกันน็อค” ได้ทางมติชนออนไลน์ หรือ ทางช่องทาง Youtube ในช่อง MatichonTV วันจันทร์ – พุธ – ศุกร์ 18.00น.

ดำเนินรายการโดย “ไบค์เกอร์หนุ่มใหญ่” ที่สลัดคราบอาจารย์นักวิชาการ “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์”

“เจ้าของร้านกาแฟนักปั่นย่านสุขุมวิท” จากอดีตนักการเมืองที่ช่วงนี้ต้องพักงาน “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ”

Don’t be insane protect your brain !!!
รักสมอง…ลอง “หมวกกันน็อค” !?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image