ผบ.ทอ.ชี้โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร ยกเหตุถ้ำหลวงเตือน หากบินถูกท้ายฮ. เสี่ยงดับยกลำ

ทอ.จัดเสวนา “โดรนและยูเอวีในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน” ผบ.ทอ. ชงไอเดีย แก้กฎหมาย ผู้ใช้โดรน ต้องมีใบอนุญาต เหมือนใบขับขี่

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่หอประชุมกองทัพอากาศ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “โดรนและยูเอวีในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน” เพื่อสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รัศมี 9 กม.รอบสนามบิน และพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความมั่นคง ตลอดจนสร้างเครือข่ายสอดส่องผู้กระทำความผิด รวมทั้งหาแนวทางการปฏิบัติร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เล่นโดรนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและความมั่นคง

พล.อ.อ.จอมกล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า โดรนเป็นอากาศยานตามคำนิยามของกฎหมาย ในทางกฎหมายการกำกับดูแลห้วงอากาศของการบินพลเรือน เป็นหน้าที่ของ Cat หรือกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันมีประกาศของ Cat มีมากมายในการกำกับดูแล ส่วนกองทัพอากาศมีบทบาทเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ว่าด้วย พ.ร.บ.การเดินทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายของอากาศยาน ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามประกาศของ Cat หรือกระทรวงคมนาคม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานและร้องขอให้กองทัพอากาศเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

พล.อ.อ.จอมกล่าวต่อว่า โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า กองทัพอากาศเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่ออากาศยานกระทำผิดกฎหมาย ขณะที่ทหารใช้เป็นยุทโธปกรณ์ คุกคามข้าศึก ทั้งยังมีระบบพัฒนาต่อต้านโดรนตามมา ยิ่งมีความก้าวหน้าและคุกคามมากเท่าไร ระบบป้องกันโดรนก็จะก้าวหน้าตามไปเช่นกัน และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเรื่องยูเอวี ที่ถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การจารกรรม การก่อการร้าย การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างกรณีภารกิจการติดตามช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ พร้อมโค้ช ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยูเอวีที่สื่อนำไปถ่ายภาพมีศักยภาพสูงมาก แต่การขออนุญาตบินอาจไม่ถูกต้อง และการบินเข้าไปใกล้อากาศยานเป็นการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และที่เข้าไปใกล้เครื่องเฮลิคอปเตอร์ MI 17 หากโดรนหมุนไปตีด้านท้ายเครื่อง MI 17 เชื่อหรือไม่ว่าตายทั้งหมด เคยมีกรณีที่โดรนชนท้ายหางเฮลิคอปเตอร์พยาบาลนำเครื่องลงฉุกเฉิน เกือบเสียชีวิตทั้งลำ กรณีการนำโดรนเข้าใกล้เครื่อง MI 17 ก็เช่นเดียวกัน

Advertisement

“ต่อไปในอนาคต ผู้บินโดรนจะต้องมีใบขับขี่ เหมือนกับการขี่เจ็ตสกี เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่รองรับ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายการเดินทางอากาศอีกหลายประเด็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บินโดรนต้องผ่านการอบรมให้เข้าใจและเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งหากกฎหมายสมบูรณ์แล้ว ถ้ายังมีผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษ ไม่ปรานีเหมือนที่ผ่านมา” ผบ.ทอ.กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image