ป.ป.ช. ชี้ 5 จนท.โยงเงินบริษัทญี่ปุ่น 20 ล้าน สินบนขนอุปกรณ์สร้างโรงไฟฟ้า

ภาพจาก http://www.khanom.egco.com/

ป.ป.ช. เร่งสอบเงินสินบนบริษัทญี่ปุ่น 20 ล้าน สร้างโรงไฟฟ้าขนอม พบ โยงจนท.รัฐ 5 ราย

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว กำลังสืบสวนบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย มูลค่า 60 ล้านเยน หรือประมาณ 20 ล้านบาท ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในไทยปี 2556 ว่า กรณีนี้ ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่นานแล้ว ทำมาอย่างเนื่อง และมีความก้าวหน้ามาก โดย ป.ป.ช.ได้ทำงานร่วมกับอัยการญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ไม่ถึงระดับรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ โดย ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาบางคนไปบ้างแล้ว

นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ซิสเต็มส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย 20 ล้านบาท กล่าวว่า มีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.ระยะหนึ่งแล้ว โดยได้มีการประสานกับทางอัยการญี่ปุ่น และ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า หน่วยงานในท้องถิ่น และหลายหน่วยงาน มีบุคคลที่อยู่ในข่ายเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบน 4-5 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับพื้นที่ กรณีนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนระหว่างประเทศ

นายวิทยา กล่าวว่า ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับล้วนมีความผิด อย่างไรก็ตาม ไม่อยากกำหนดกรอบเวลาว่าจะสามารถสรุปสำนวนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เมื่อใด แต่สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าไปมาก เหลือเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดโอกาสให้เข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ และไม่จำเป็นต้องเสนอคสช. ให้ใช้มาตรา 44 สั่งพักงานผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตรงๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่เขาก็ฝ่าฝืนกระทำ ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบการลงทุนระหว่างประเทศ ต่างประเทศต้องมีความเชื่อมั่น เมื่อจะมาลงทุนในประเทศไทย ว่าเราจะให้ความเป็นธรรมกับเขา ไม่มีการเรียกสินบน แต่เมื่อมีกรณีแบบนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญและจะขยายผล ไปยังสถานที่อื่นๆด้วย ซึ่งอาจเกิดกรณีแบบนี้ ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่Ž

Advertisement

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอผลการสอบสวนของ ปปช.ก่อน ส่วนมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการรับสินบนนั้น ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่ากระทรวงนี้จะต้องไม่มีการทุจริต และหากตรวจสอบพบว่ามีคนทุจริตคนที่ทำต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกชนรายหนึ่งเข้ามาทำโครงการสร้างท่าเรือชั่วคราว เพื่อขนถ่ายอุปกรณ์โรงไฟฟ้า ซึ่งหลังอนุมัติโครงการท่าเรือไปแล้วเมื่อมีการดำเนินการเสร็จก็ได้มีการรื้อย้ายถอนท่าเรือออกไปแล้ว ถ้าพบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมีการรับสินบน ต้องมีการลงโทษ

“เชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2556 เป็นกรณีเฉพาะโรงไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งกรณีของญี่ปุ่นนั้นมีกฎหมายคล้ายๆ กับประเทศอังกฤษ หากพบการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายในต่างประเทศ ถูกจับได้และมีการยอมความกับรัฐบาลญี่ปุ่น กฎหมายจะลงโทษเฉพาะโทษทางแพ่งเท่านั้น จะไม่ลงโทษทางวินัย โดยมีข้อกำหนดระหว่างประเทศร่วมกันว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตจะต้องส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานปราบปรามทุจริตของประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งกรณีนี้ ปปช.ของไทยก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบมีผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษ” นายไพรินทร์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมจากการสอบสวนของ ปปช.แล้ว โดยจะต้องตรวจสอบข้อมูลว่า โครงการโรงไฟฟ้าที่ขนอม มีเจ้าหน้าที่ กรมเจ้าท่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร การให้ใบอนุญาตเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือรับสินบนจะลงโทษเด็ดขาด ทั้งนี้ ปปช.เคยสอบถามข้อมูลท่าเทียบเรือ จำนวนเรือที่เข้าท่าขนอม รวมทั้งได้เคยเชิญเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของกรมเจ้าท่าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมเกี่ยวกับท่าเทียบเรือแต่ละแห่งแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าขนอมเป็นโครงการขนาดใหญ่ ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าข้อมูลสื่อญี่ปุ่นนำเสนอไปมีรายละเอียดตรงจุดไหนบ้าง เราต้องดูว่ากรมเจ้าท่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตรงไหน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน หากพบว่ามีมูลจะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยต่อ และหากพบว่ามีความผิดจะลงโทษขั้น เด็ดขาดต่อไป โดยไม่รอผลการสอบสวน ของ ปปช.ก็สามารถลงโทษทางวินัยได้ทันทีŽ

Advertisement

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นการให้สินบนเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเครื่องจักรผ่านท่าเรือเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image