รายงานหน้า2 : ‘กคช.’เปิดวงเสวนา เดินหน้าสู่‘สมาร์ทซิตี้’

หมายเหตุ – การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดกิจกรรม “NHA GIS Day 2018 : Smart Cities Powerd by GIS” เพื่อโชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่สมาร์ทซิตี้ ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

 


ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด

ปฏิบัติการรองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Geo Intelligent Platform for Smart Cities”

Advertisement

จะพูดใน 3 เรื่อง คือ 1.สมาร์ทซิตี้ 2.จีโออินเทลิเจนต์ และ 3.แพลตฟอร์ม โดยหากพูดถึงสมาร์ทซิตี้แล้วพบว่า ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาได้สำรวจสมาร์ทซิตี้ทั่วโลกจำนวน 87 เมือง ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นสมาร์ทซิตี้ใน 3 ด้านคือ 1.ด้านไอที 2.ด้านแพลนนิ่ง หรือแผนการพัฒนาเมือง และ 3.ด้านการดำเนินการ โดยทุกเมืองส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องไอทีมาก เพราะง่าย ไม่ต้องยุ่งกับสภาพแวดล้อมมากจนเกินไป รวมทั้งไม่ต้องยุ่งกับคนด้วย เพราะฉะนั้นไทยเราก็สามารถเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ในไม่ช้า ถามว่าข้อมูล GIS เกี่ยวข้องกับการทำ
สมาร์ทซิตี้อย่างไร คำตอบคือ เกี่ยวข้องกับคน ซึ่งมีหลายกลุ่มหลายรูปแบบ แต่ละแบบมีผลกระทบไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนคนหนึ่งดูรูปรูปหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ก็เห็นเป็นรูปธรรมดาก็ไม่เกิดผลอะไร แต่ถ้าหากมีการนำรูปนั้นมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่เชิงลึกลงไปก็สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์รูปเพียงรูปเดียวก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนพัฒนาเมืองได้

ด้านจีโออินเทลิเจนต์ หรือการเป็นเมืองอัจฉริยะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จากการนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นจนเป็นแบบนี้ในปัจจุบัน และในอนาคตจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลที่ดีในอนาคต อย่างการสร้างถนน อุโมงค์ส่งน้ำ การกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ได้ แต่เชื่อว่าหลังจาก 5 ปีไปแล้วเรื่องเหล่านี้คงไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาของเมืองได้แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเทคโนโลยีของอนาคตอาจจะมาตอบโจทย์เหล่านี้ได้

ด้านแพลตฟอร์ม ซึ่งการพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้จะต้องมองแบบองค์รวมทั้งหมด อย่ามองแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่างอีอีซีหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนั้นก็จะมีการบริหารแบบองค์รวม โดยมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในเชิงพื้นที่ และก็ได้แค่ส่วนเดียวคือข้อมูลขั้นแรกๆ เท่านั้น เท่ากับว่าอีอีซีเป็นสมาร์ทซิตี้แค่ส่วนหนึ่ง แต่หากจะให้คนมีชีวิตที่ดีต้องวางแผนไปอีกขั้น

ทั้งนี้เทรนด์ใหม่ในอนาคตของโลกจากนี้ไปคือการใช้บิ๊กดาต้าหรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องไปให้ถึงโดยการนำสิ่งต่างๆ มาจัดการร่วมกันในครั้งเดียว จากนั้นก็จะบอกทางเลือกว่าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น โดยสรุปการจะเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ต้องมีการร่วมมือกันทุกฝ่าย นโยบายที่ดี การตัดสินใจที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมองระยะยาว แต่ก็ต้องดำเนินไปตามเทรนด์ของโลก ซึ่งเทคโนโลยีช่วยวางแผนเรื่องเหล่านี้ได้

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ปาฐกถาหัวข้อ “GIS for Smart Cities”

ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนและภาคราชการใน จ.ขอนแก่น ผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์ จ.ขอนแก่น โดยเรียนรู้จากทั่วโลก ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์สมาร์ทซิตี้โอเปอเรชั่นขึ้นมา (SCOPC) เพื่อเป็นศูนย์กลาง และมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาคือ เคเคทีที มีบทบาทคล้ายๆ กรุงเทพธนาคม ของกรุงเทพมหานคร ในการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานในขอนแก่น ตามแผนนั้นขอนแก่นจะเป็นสมาร์ทซิตี้ได้เต็มตัวในปี 2029 โดยมีเป้าหมายทำเมืองให้กระชับ ไม่โตแบบไร้ทิศทาง ซึ่งในเมืองจะประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าใต้ดิน 2.ที่อยู่อาศัยหรือสมาร์ทลีฟวิ่ง 3.สมาร์ทซิติเซ่นหรือการศึกษา 4.สมาร์ท อิโคโนมี และ 5.สมาร์ท คอฟเวอร์เมนต์


ธัชพล กาญจนกูล

ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปาฐกถาหัวข้อ GIS for Smart Community : โครงการฟื้นฟูเมืองดินแดง

ระบบ GIS ที่จะนำมาใช้กับโครงการของ กคช.นั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย โดยที่ผ่านมา กคช.มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยรวม 7.02 แสนยูนิต โดย 80% เป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย และตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีนั้น ต้องทำเพิ่มอีก 2.27 ล้านยูนิต หรือปีละแสนยูนิต เพื่อรองรับคนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเองอีก 5.8 ล้านคน อย่างไรก็ตามช่วง 5 ปีแรกจะพัฒนารวม 3.5 แสนยูนิต หรือประมาณ 7 หมื่นยูนิตต่อปี โดยดูความต้องการของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก

ซึ่งการดำเนินการพัฒนาเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายจะต้องดำเนินการใน 3 รูปแบบ คือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบพีพีพี หรือจอยท์อินเวสเมนต์ ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการนาน 18-24 เดือนเพราะมูลค่าโครงการเกิน 5 พันล้านบาท ผ่านคณะกรรมการร่วมทุน คณะรัฐมนตรี โดยมีแผนที่จะพัฒนาที่เชียงใหม่ ลำลูกกา ร่มเกล้า บางพลี และดินแดง รูปแบบต่อมาคือจอยท์โอเปอเรชั่น คือ ตัดแปลงย่อยมาพัฒนามูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาทเพื่อจะได้ไม่ต้องนำโครงการเข้า ครม. แค่ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และกระทรวงเห็นชอบก็พอแล้ว และสุดท้ายคือจอยท์ซัพพอร์ต โดยให้เอกชนนำเสนอที่ดินและโครงการเข้ามาโดย กคช.จะเป็นพี่เลี้ยงให้ ซึ่งส่วนนี้มีธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พร้อมปล่อยกู้ คาดว่าส่วนนี้จะประกาศให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้นอกจาก 3 รูปแบบนี้แล้ว กคช.อยู่ระหว่างการศึกษาการสร้างบ้านแบบน็อกดาวน์ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านอยู่ โดยเฉพาะในชุมชนแออัด ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า

ขณะเดียวกัน กคช.จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่อาศัยจากทุกภาคส่วน โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลวิเคราะห์พัฒนา เพื่อนำไปสู่การเป็นบิ๊กดาต้า ฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยของประเทศ พวกนี้จะทำให้รู้ว่าคนมีปัญหาที่อยู่อาศัยมากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ กคช.กำลังตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ประเดิมทุนเริ่มต้นด้วยการของบประมาณจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถกู้สถาบันการเงินได้ มากู้ยืมกองทุนดังกล่าวไปซื้อที่อยู่อาศัย โดยเรื่องนี้จะเข้าสู่การประชุมของ สนช.ในเดือนหน้า หากผ่านความเห็นชอบเชื่อว่าปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้าจะเริ่มดำเนินการได้

สำหรับโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดงนั้น แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ปัจจุบันได้ดำเนินการระยะแรกไปแล้วโดยผู้อยู่อาศัยเริ่มย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเฟสแรกแล้ว โครงการในเฟสแรกนี้ กคช.มุ่งเน้นที่จะให้เป็นลักษณะ Smart Lifestyle การปรับพฤติกรรมของคนอยู่อาศัย ด้วยการสร้างกฎมีการดูแลคนอยู่อาศัย ในทุกช่วงวัย ส่วนระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการพัฒนาในปี 2563-2565 จะเน้นให้เป็นชุมชนน่าอยู่ หรือ Smart community ขณะการพัฒนาระยะที่ 3 จะพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่หรือ Smart Town ระยะสุดท้ายปี 2567 เป็นต้นไป จะมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ซึ่งจะประกอบด้วยเรื่องความปลอดภัย สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย สังคมดิจิทัล การประหยัดพลังงาน และการออกแบบสำหรับทุกคนหรือทุกช่วงวัย สามารถอยู่ร่วมกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image