โครงร่างตำนานคน : มีชัย ฤชุพันธุ์ กว่าจะสำนึกบาป : โดย การ์ตอง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คำพูดที่สมควรจะต้องบันทึกไว้ ด้วยมีความหมายอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของประชาชน
ในประเทศ ย่อมเป็น “คำสำนึกบาป” ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในงานสัมมนาเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นนายมีชัยผู้สวมบทประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการพัฒนากฎหมาย

มาตรา 77 เกิดขึ้นมาจากมองเห็นอันตรายของการมีกฎหมาย จากเดิมที่คิดว่ามันดี ทำให้สังคมยึดถือปฏิบัติเดินไปในทางเดียวกัน สร้างระบบระเบียบให้ประชาชนทำตาม ประเทศไทยมีกฎหมายกว่า 2,000 ฉบับ แต่ถามว่าสงบ สันติ เรียบร้อยหรือไม่ คำตอบคือไม่ และนับวันยิ่งแย่ขึ้น ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็น้อยลง ที่อันตรายคือมันสร้างอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ผลงานดีเด่นของสภาคือการออกกฎหมายเยอะๆ ถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการทบทวน

คือคำของนายมีชัยที่ฟังแล้วต้องนั่งอ้าปากค้าง

Advertisement

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำกฎหมายออกมามากมายมหาศาล แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ก่อนออกกฎหมาย เอาเข้าจริงกลับสร้างความไม่เป็นธรรม อึดอัดขับข้องต่อการดำรงชีวิตและการงาน การออกกฎหมายจำนวนมากจึงไม่ใช่ของดี วันหนึ่งผมก็สำนึกบาปว่ากฎหมายที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะมันจะไปตกในมือคนที่ใช้ระบบพรรคพวก ผ่านวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่บังคับใช้อย่างที่ควรเป็น ผมคิดแบบนี้มา 20 ปีแล้ว” นายมีชัยกล่าว และว่า มีนักปราชญ์ชาวกรีกคนหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า อันกฎหมายก็เสมือนใยแมงมุม คอยขยุ้มแมลงตัวน้อยไม่ปล่อยหนี แต่แมลงตัวใหญ่ผ่านไปได้ทุกที จึงนำไปสู่การวางกรอบในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ ห้ามขัดหลักนิติธรรม หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ต้องทำให้กฎหมายเหลือน้อยให้ได้

นั่นคือความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ได้ชื่อว่านักกฎหมายมือหนึ่งของประเทศ และเป็นผู้ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือของอำนาจ

เป็นการ “สำนึกบาป” ที่ชวนตื่นตะลึง เพราะบาปนั้นย่อมคือการกระทำต่อชะตากรรมของประชาชนในประเทศมายาวนาน

ในประเทศที่ “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” เป็นหลักการใหญ่ของการอยู่ร่วมกัน มีวิธีคิดอยู่ที่มีกฎหมายสำหรับใช้บังคับประชาชนให้น้อยที่สุด และต้องใช้บังคับด้วยความคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่

“เสรีนิยม” คือความเชื่อมั่นในจริยธรรมว่ามีอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่ จึงไม่ควรออกกฎหมายไปแทรกแซงจริยธรรมในใจนั้น เนื่องจากหากเข้าไปกำหนดกะเกณฑ์มากจะทำให้ความใส่ใจที่จะระมัดระวังจริยธรรมในใจหายไป แล้วหันมาระมัดระวังกฎหมายแทน

แต่สำหรับประเทศ “อำนาจนิยม” ที่มองว่าความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้ จะต้องออกกฎหมายมาวางกติกาเข้มงวด โดยใช้การวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่

และอันว่า “วินิจฉัย” นั้น ที่สุดแล้วคือความเห็นของบุคคล มีโอกาสสูงยิ่งที่จะเป็นการตัดสินไปคนละทางกับ “จริยธรรม”

และกฎหมายนี่เอง ที่ง่ายจะกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเหตุแห่งคอร์รัปชั่นที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

น่าจะเป็นเรื่องโชคดีอยู่บ้างที่นายมีชัยเกิด “สำนึกบาป” ขึ้นมา ในห้วงเวลาที่ยังทำหน้าที่

แต่โชคดีจะส่งผลเปลี่ยนแปลงชะตากรรมอันเลวร้ายจากบาปที่ทำมามากแค่ขึ้นอยู่กับกำลังที่จะ “ไถ่บาป” ของนายมีชัยเช่นกัน

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image