“ศรีสุวรรณ” ยื่นนายกฯ 24 ก.ค.ค้านใช้ที่ดินมักกะสันเชื่อม3สนามบิน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างทีโออาร์โครงการรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะใช้ที่ดินบริเวณมักกะสัน โดยสมาคมฯ และเครือข่าย จะร่วมกันไปยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล และเวลา 11.30 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อกระทรวงคมนาคม ด้วย

ทั้งนี้ แถลงการณ์เรื่อง ขอคัดค้าน TOR รฟท. เอื้อนายทุนนำที่ดินของชาตื ที่มักกะสันไปประเคนให้ EEC ระบุว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ประกาศเงื่อนไขการประมูล TOR สำหรับโครงการรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบินซึ่งมีการใช้ที่ดินมักกะสันของการรถไฟฯ นั้น พบว่า TOR ดังกล่าวไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งมีการใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ที่ผิดวัตถุประสงค์ และอาจผิดกฎหมายหลายประการ ดังนี้

ข้อ ๑.โครงการดังกล่าวรัฐฐาลอ้างว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อ ๓ ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ พัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีข่าวว่ารัฐจะอนุญาตให้เอกชนผู้พัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ได้สิทธิใช้ที่ดินมักกะสัน เริ่มต้นด้วยเนื้อที่ ๑๔๐ ไร่ โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐเพียงเล็กน้อย และถึงแม้เอกชนจะมีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยขาดทุนของการรถไฟฯ อีก ๑ หมื่นล้านบาท แต่คณะตรวจสอบภาคประชาชนก็มีความเห็นว่าเป็นค่าตอบแทนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าปัจจุบันของที่ดิน ๑๔๐ ไร่ และในอนาคตน่าจะมีการขยายขอบเขตไปครอบคลุมที่ดินเกือบ ๕๐๐ ไร่ที่มักกะสันทั้งหมด

Advertisement

ข้อ ๒ การที่ผลประโยชน์ทั้งหมดไม่ตกแก่การรถไฟฯ เป็นการผิดพระราชปณิธาน เพราะที่ดินมักกะสันเป็นที่ดินที่ล้นเหล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชทานเพื่อใช้พัฒนากิจการรถไฟ ดังนั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวมิได้ก่อประโยชน์ให้ตกแก่การรถไฟฯ แต่ผู้เดียว จึงจะเป็นการผิดไปจากพระราชปณิธาน ดังนี้

(1) โครงการรถไฟที่จะเชื่อมต่อ ๓ ท่าอากาศยานนั้น วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความสะดวกในการเดินทางเพื่อใช้ท่าอากาศยานทั้งสามแห่ง ประโยชน์หลักจึงตกอยู่กับท่าอากาศยานทั้งสาม โดยทำให้มีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น แต่ผลกำไรจากรถไฟดังกล่าวมิได้ตกเป็นของการรถไฟฯ ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้ที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อทำให้ผลประโยชน์ไปตกแก่ท่าอากาศยานเป็นสำคัญ

(2) ในทางเทคนิค ที่ดินมักกะสันที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับการเชื่อมโยงบริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชานั้น จะเป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะเกิน ๕-๑๐ ไร่ ดังนั้น การยกให้เอกชนได้สิทธิใช้ที่ดินมากถึง ๑๔๐ ไร่ และในอนาคตน่าจะขยายออกไปจนเต็มพื้นที่เกือบ ๕๐๐ ไร่ที่มักกะสัน จึงเป็นเรื่องที่เกินเลยความจำเป็นทางเทคนิคในการเชื่อมโยง ๓ สายทางดังกล่าว

(3) TOR ระบุว่าที่ดิน ๑๔๐ ไร่ดังกล่าว จะใช้เพื่อการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ แต่ในข้อเท็จจริง พื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการเชื่อมโยง ๓ สายทางรถไฟ จะเป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะเกิน ๕-๑๐ ไร่ ดังนั้น พื้นที่ส่วนที่เหลือในเนื้อที่ ๑๔๐ ไร่และต่อไปน่าจะขยายออกไปจนเต็มพื้นที่เกือบ ๕๐๐ ไร่ที่มักกะสันนั้น จึงมิใช่พื้นที่สำหรับสนับสนุนบริการรถไฟอย่างแท้จริง แต่ตามที่ปรากฏในข่าวก่อนหน้า น่าจะเป็นการอ้างคำพูดดังกล่าว เพียงเพื่อจะพัฒนาที่ดินเหล่านี้ในเชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน (mixed use) ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องที่เกินเลยความจำเป็นทางเทคนิคในการเชื่อมโยง ๓ เส้นทางดังกล่าวแล้ว ผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ดินเหล่านี้ในเชิงพาณิชย์ มิได้ตกแก่การรถไฟฯ แต่จะไปตกแก่ภาคเอกชนผู้พัฒนารถไฟเชื่อมท่าอากาศยานแทน

(4) วิธีพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าที่ดินมักกะสัน หรือที่ดินอื่นของการรถไฟ โดยให้ผลประโยชน์ทั้งหมดตกแก่การรถไฟฯ อันเป็นไปตามพระราชปณิธาน นั้น จะต้องให้การรถไฟฯ หรือบริษัทลูกที่การรถไฟฯ ถือหุ้นทั้งหมดตลอดเวลา เป็นผู้จัดการพัฒนาที่ดิน โดยว่าจ้างบริการจากผู้ที่มีประสบการณ์ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะเสนอรับค่าจ้างเป็นสัดส่วนจากรายได้ที่เกิดขึ้นในโครงการ และคัดเลือกโดยวิธีประมูลแข่งขันอัตราค่าจ้าง จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ ๓. การรวมโครงการทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

กรณีที่รัฐบาลนำที่ดินมักกะสันไปรวมเข้ากับโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่งนั้น จะทำให้โครงการมีมูลค่าโดยรวมเป็นจำนวนเงินสูง และจะมีผลเป็นการกีดกันเอกชนรายย่อมให้ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะ

(ก) ที่ดินมักกะสันเป็นโครงการใหญ่ในตัวเอง และเนื่องจากจะใช้เพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์แบบหลากหลาย (mixed use) โดยมิใช่งานอุตสาหกรรม หรืองานโกดังเก็บสินค้า ดังนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน จึงมิได้ขึ้นอยู่กับโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่ง

(ข) ความรู้และความชำนาญในการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ก็ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงดังเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อยๆ เพื่อจะเปิดให้มีนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและแม้แต่ขนาดย่อมเข้ามาแข่งขันได้จำนวนมาก

(ค) รัฐควรเป็นผู้กำหนดแผนผังแบ่งพื้นที่มักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เอง เพื่อจะสามารถกันพื้นที่สำหรับสาธารณะให้พอเพียงอย่างเหมาะสม แทนที่จะมอบให้เอกชนเป็นผู้พิจารณา

(ง) ตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะของการใช้งานของพื้นที่มักกะสันนั้น เป็นเอกเทศอิสระจากพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างสิ้นเชิง และในเชิงเทคนิค โครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่งก็ใช้พื้นที่มักกะสันแต่เพียงเล็กน้อย โดยมีส่วนอื่นใดที่จะใช้พื้นที่มักกะสัน จึงไม่มีเหตุผลที่จะเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปไว้ในโครงการดังกล่าว

(จ) การนำเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปผูกรวมกับโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่ง จะทำให้โครงการมีขนาดยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีผู้เข้าแข่งขันน้อยลง และเป็นการทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

(ฉ) เนื่องจากโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่งเป็นประโยชน์แก่ท่าอากาศยานเป็นสำคัญ ถ้าจำนวนผู้ใช้ในช่วงแรกและอัตราค่าโดยสารไม่คุ้มทุน รัฐบาลก็ควรกำหนดให้ท่าอากาศยานซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ถูกควบคุมราคา และมีกำไรสูง ให้เป็นผู้อุดหนุน และเนื่องจากโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ๓ แห่งจะก่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ดังนั้น รัฐจึงสามารถใช้รายได้รวมจากระบบงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนได้อีกด้วย แต่ไม่สมควรใช้ทรัพยากรจากการรถไฟฯ

จากเหตุผลดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และเครือข่ายกัลยาณมิตร คณะตรวจสอบภาคประชาชน  สหภาพของพนักงานการรถไฟฯ และผู้แทนสหภาพรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง มีความเห็นร่วมว่า TOR ดังกล่าวไม่เหมาะสม และผิดกฎหมายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑) เนื่องจากไม่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งมีการใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ที่ผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับพระราชปณิธาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข TOR โดยพลัน และระหว่างนี้ ก็ขอให้ชะลอการประมูลแข่งขันในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านการเลือกตั้งและมีฝ่ายค้านในรัฐสภาที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบให้เข้มแข็งเสียก่อน

ทั้งนี้ สมาคมและกัลยาณมิตร จะร่วมกันเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  ในวันอังคารที่ ๒๔ ก.ค.๖๑ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล และเวลา ๑๑.๓๐ น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อกระทรวงคมนาคม ต่อไปด้วย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image