รายงาน : ‘วสท.-สจล.’เปิดปม เหตุเขื่อนลาวแตก

หมายเหตุความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เกิดทรุดตัวทำให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ธเนศ วีระศิริ
นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

ขณะนี้ต้องรีบดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการประเมินสาเหตุการเกิดเหตุการณ์เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วนดี ที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเกิดการทรุดตัวและส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าวและมีน้ำที่ถูกกักเก็บไว้จำนวนมากไหลเข้าพื้นที่ท้ายเขื่อนดังกล่าวนั้น วสท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังต้องรอรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอจากทั้งผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการและผู้เกี่ยวข้องก่อน จึงจะสามารถนำมาประเมินสาเหตุได้ ว่าเกิดจากกระบวนการก่อสร้าง วัสดุ หรือจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างเขื่อน เท่าที่มีข้อมูลไม่เคยเกิดเหตุขึ้นมาก่อน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการก่อสร้างและกระบวนการทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนในลักษณะใด หลักๆ มีอยู่ 3 ประเภท คือเขื่อนคอนกรีต เขื่อนดินเหนียว และเขื่อนดินเหนียวผสมคอนกรีต จะมีการประเมินความเสี่ยงในทุกขั้นตอนของการก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง การก่อสร้าง และการดูแลรักษาหลังก่อสร้างเสร็จ ทั้งนี้ ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนต้องมีการทดสอบความทึบน้ำป้องกันน้ำไหลผ่านและกัดเซาะจนอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง หากพบความเสียหาย
ระหว่างการดำเนินการก็จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ตลอด เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยจะมีการวัดระดับน้ำ หากเกินระดับก็จะต้องมีการเตือนภัยด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนทราบ

สำหรับเขื่อนในประเทศไทย มีการติดตามสถานการณ์น้ำและมีการตรวจสอบความแข็งแรงคงทนของเขื่อนอยู่เป็นระยะ และมีการตรวจใหญ่ปีละ 1 ครั้ง จึงมีความเชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัย ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติจะมีการบำรุงรักษา อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสี่ยงของเขื่อนไทยและลาวที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วมีความแตกต่างกัน เพราะเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะมีปัจจัยกระทบได้มากกว่าเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว

รศ.เอนก ศิริพานิชกร
ประธานสาขาโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

Advertisement

เขื่อนที่ สปป.ลาว เจตนาคือเพื่อทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยมีเขื่อนหลักต่อเข้ากับอุปกรณ์ แต่อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ฉีดน้ำ ยังไม่ได้ดำเนินการต่อเข้าไป แต่เริ่มเก็บกักน้ำไว้แล้วเพราะจำเป็น แต่ส่วนที่พังเรียกด้วยศัพท์ทางเทคนิค คือ Saddle Dam (เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ) มีลักษณะเหมือนอานม้า ตรงหลังม้าแคบ ท้องม้าก็จะป่อง มีสภาพไปปิดไว้เพื่อเก็บกักน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ช่องโหว่ของกระทะ มีวัสดุปิดเพื่อเก็บน้ำ แต่ช่องพังลง ทำให้เป็นประเด็นที่ทำให้เขื่อนแตก

โอกาสที่จะทำให้เขื่อนแตกได้ การก่อสร้างมีส่วนสำคัญ กรณีนี้น่าจะเป็นเขื่อนดิน ดูจากสภาพแล้ว Saddle Dam ไปปิดช่องเขา ช่องเขามีลักษณะเว้าลงไป เวลาก่อสร้างเขื่อนดินจะบดอัดขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เก็บกักน้ำได้ ส่วนตรงเขื่อนหลักน่าจะแข็งแรง มีทางน้ำล้น ทำให้น้ำไม่ไหล โดยหลักวิศวกรรม ถ้าน้ำไหลโอเวอร์ท็อปคือน้ำไหลเหนือเขื่อน และไม่ได้ออกแบบไว้จะเกิดอันตรายมาก แต่เข้าใจว่าขณะนี้เขื่อนหลักยังไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะน้ำต่อเนื่องกัน พอ Saddle Dam พังลง น้ำก็ไหลออก จากที่ตามข่าวยังไม่ทราบรายละเอียด เห็นว่ามีน้ำประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องเข้าใจว่าโอกาสที่โครงสร้างเขื่อนจะพัง มักจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างมากกว่าตอนที่เปิดใช้แล้ว

สำหรับประเทศไทยมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ขณะนี้คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการดูแลรักษาอยู่แล้ว อย่างเขื่อนศรีนครินทร์อยู่ใกล้รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์จะมีการมอนิเตอร์ตลอดว่าเขื่อนขยับหรือไม่ ส่วนเขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนคอนกรีตจะมีการเจาะคอนกรีตมาตรวจสอบดูตลอด และมีตำแหน่งเป็นเขื่อนโค้งตั้งมีตำแหน่งเดียว แต่กรณีที่เกิดขึ้นที่ลาว เขื่อนที่มีปัญหา คือส่วน Saddle Dam เป็นเขื่อนสำหรับเก็บกักน้ำ อยากฝากไว้ว่าในทางวิศวกรรมจะเริ่มจากการ 1.ออกแบบที่ดี 2.การกำหนดวัสดุที่ดี 3.การก่อสร้างที่ดี และ 4.การบำรุงรักษาที่ดี

รศ.สุพจน์ ศรีนิล
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

จากกรณีเขื่อนแตกที่ สปป.ลาว การที่น้ำซึมเข้าไปในโครงสร้างชั้นใต้เขื่อน แล้วกัดเซาะพาเม็ดดินออกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดโพรงและทำให้โพรงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตามหลักการแล้วเขื่อนพวกนี้มีน้ำไหลผ่านอยู่แล้วไม่สามารถกั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีการไหลของน้ำออกไปมากก็ทำให้เกิดการยุบตัวของเขื่อน เช่นเดียวกับการทรุดตัวของถนนและทำให้โครงสร้างไม่แข็งแรง ลักษณะรอยแตกที่อยู่บนหลังเขื่อนเป็นเส้นตามแนวยาว

การแตกของเขื่อนในแง่หลักการ ในประเทศไทยก็เคยเจอปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น ที่เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา ตอนนั้นมีการทำช่องด้วยหินเพื่อให้น้ำซึมออก แต่ครั้งนั้นยังไม่ใหญ่พอที่จะทำให้เขื่อนแตกได้ เจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาโดยการนำน้ำปูนไปอัดเพื่อลดแรงดันของน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องที่เสียหาย วิธีนี้สามารถเป็นการชะลอน้ำได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถชะลอน้ำได้เขื่อนก็สามารถแตกได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันเขื่อนแตก คือการติดตั้งเครื่องมือวัดต่างๆ เพื่อวัดการซึมของน้ำผ่านเขื่อน ถ้าหากการไหลของน้ำมีระดับที่มากขึ้นต้องรีบแก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image