มองข้าม การเมือง รัฐบาล หลัง ‘เลือกตั้ง’ จะ ‘บริหาร’ ไม่ได้

มิได้เป็นเรื่องแปลกหากผลการสำรวจความเห็นประชาชนของ “นิด้าโพล” จะระบุออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการคาดหมายสูงสุดว่าจะเป็น “นายกรัฐมนตรี”

เมื่อเทียบกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย

เมื่อเทียบกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

เนื่องจากนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา อาจถือได้ว่า “พื้นที่” ในทางการเมืองอยู่ในความยึดครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

Advertisement

ท่านไปได้ทุกแห่ง ท่านพูดได้ทุกเรื่อง ทุกประเด็น

ขณะที่นักการเมืองอื่น ไม่ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขยับไปไหนก็ถูกหลิ่วตามอง

จากทั้ง “มหาดไทย” จากทั้ง “ตำรวจ” จากทั้ง “ทหาร”

Advertisement

กระนั้น ผลสำรวจที่แปลกอย่างไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยก็คือ คะแนนและความนิยมต่อพรรคเพื่อไทยยังเป็นอันดับ 1

หากถือว่าพรรคเพื่อไทยคือความต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน และคือความต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย ก็มิได้เป็นเรื่องแปลก

เพราะพรรคไทยรักไทยได้คะแนนนิยมเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ชนะการเลือกตั้งจากการประเดิมสนามการเมืองเมื่อเดือนมกราคม 2544 หากเมื่อเป็นรัฐบาลครบ 4 ปี เป็นครั้งแรกของรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว

ยังมี “ผลงาน” และมี “คะแนน” ความนิยมเป็นอย่างสูง

สัมผัสได้จากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ประชาชนเลือกเข้ามาด้วยจำนวน 348 จากจำนวนทั้งสิ้น 500

ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อานิสงส์จากชัยชนะเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นั้นเอง ทำให้แม้จะถูกรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็ยังไม่แหลกละเอียดเป็นผงฝุ่น

ตรงกันข้าม ยังกำชัยเมื่อเป็นพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคเพื่อไทย

แต่เรื่องแปลกอย่างยิ่งจากผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ก็คือ แม้ประชาชนจะเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 แต่คะแนนต่อนายกรัฐมนตรีกลับเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มิใช่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

จึงแทนที่พรรคการเมืองซึ่งประชาชนมอบความไว้วางใจและต้องการให้เข้าไปบริหารประเทศ กลับไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเป็นของพรรค หรือกลุ่มการเมืองอันดับรองๆ ลงไป

ตรงนี้สามารถเข้าใจได้ เพราะว่าหัวข้อที่ “นิด้าโพล” กำหนดก็คือ “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน”

กระนั้น ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “เข้าใจ” ได้อย่างสุกงอม

เพราะหากเริ่มต้นจากความเป็นจริงของ “กฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน” ก็เท่ากับว่าขัดแย้งกับคำถามที่ว่า “พรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด”

สะท้อนความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญและของกฎหมาย

มองจาก คสช.อาจมิได้เป็นเรื่องผิดปกติ ขณะเดียวกัน มองจากรัฐบาลซึ่งต้องการที่จะต่อท่อแห่งอำนาจอีกอย่างน้อย 4 ปี ก็มิได้เป็นเรื่องผิดปกติ

แต่หากเป็นไปตามที่ “นิด้าโพล” แสดงออก

ไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ไม่จำเป็นต้องเป็น ผู้มากด้วย “ประสบการณ์” ทางการเมือง ก็พอจะมองออกว่า รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งตามกฎหมายเช่นนี้ย่อมสาหัส

เป็นรัฐบาลที่ได้ “อำนาจ” แต่จะ “บริหาร” ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image