รายงาน : หลากทรรศนะ‘ปมร้อน’ วิจารณ์‘ประธานาธิบดีตุรกี’

หมายเหตุ – เป็นความเห็นของนักวิชาการ กรณี “แชมป์” พีรพล เอื้ออารียกูล ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง วิพากษ์วิจารณ์นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกีอย่างรุนแรง กับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ตุรกี

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

การวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสื่อสามารถทำได้ แต่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ เพราะมีเรื่องของกฎหมายและจริยธรรมอยู่ เช่น เรื่องกฎหมายถ้าเราไปว่าคนอื่นโดยที่ไม่มีข้อเท็จจริงก็อาจจะเจอกฎหมายหมิ่นประมาทได้ โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อน เช่น เรื่องศาสนา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

Advertisement

แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถนำเสนอได้เลย คือ นำเสนอได้แต่ต้องรับผิดชอบ ต้องระวัง เพราะการทำหน้าที่ในมุมของสื่อ ไม่ได้จำกัดว่าห้ามพูดห้ามนำเสนอ แต่อย่างการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเรื่องเผด็จการ ต้องมีข้อมูลรองรับมากกว่านี้ มากกว่าไปกล่าวหาโดยยังขาดข้อมูล สมมุติจะนำเสนอว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ สามารถนำเสนอในเชิงข่าวได้ หรือมีการประชุมทางวิชาการแล้วมีการแสดงความคิดเห็นกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลของประเทศหนึ่งเป็นเผด็จการก็สามารถนำเสนอได้ ไม่ถึงขั้นว่าห้ามนำเสนอ เพียงแต่ไม่ควรนำเสนอเรื่องราวออกไปโดยยังขาดข้อมูล และดูจากคลิปแล้วเหมือนเป็นการดูถูกเย้ยหยันโดยขาดข้อมูลรองรับ ทำให้กระทบกับคนที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งหรือนับถือศาสนาที่แตกต่างจากเรา และยังมีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

สำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องคำนึงอยู่หลายอย่าง เพราะเคยเกิดกรณีที่เราไปวิพากษ์วิจารณ์ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่น อาจจะด้วยเรื่องข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือเรื่องการดูถูกเหยียดหยาม เช่น เอาชื่อเขามาพูดอะไรบางอย่าง ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกคนในชาติอีกชาติหนึ่งด้วย

ในด้านการทำงานของสื่อจากเหตุการณ์นี้จะเหมารวมไม่ได้ เพราะเป็นเฉพาะกรณีของคนนี้คนเดียวไม่ควรเหมารวมเป็นภาพรวมของสื่อ สำหรับต้นทางก็ต้องรับผิดชอบไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จัดรายการหรือทางสถานี ส่วนการออกมาขอโทษนั้นหากสถานทูตมองว่าทางเขาเสียหายก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้

Advertisement


ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค

รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนควรมี
วิจารณญาณมากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากสิ่งที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปนั้นจะมีผลกระทบต่อผู้รับสารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีสื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนในสังคม หากเป็นข่าวสารในทางบวก
ก็จะได้รับผลในทางที่ดีแต่หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็จะทำให้เป็นผลกระทบต่อตัวสื่อมวลชนเอง และอาจเป็นผลกระทบระหว่างสังคมด้วย

ความจริงสื่อสามารถวิพากษ์วิจารณ์แหล่งข่าวได้ แต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้งกับสังคม หากสื่อมวลชนได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ต้องให้ประชาชนที่เป็นผู้รับสารพิจารณาเองว่าควรจะเชื่อเรื่องนั้นหรือไม่อย่างไร

หากการนำเสนอข่าวออกไปสู่สาธารณะแล้วเกิดผลกระทบระหว่างประเทศหรือระดับสังคมในวงกว้าง อาจทำให้คนในสังคมเกิดความขัดแย้งกันได้หรือเกิดความไม่พึงพอใจกัน ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็เคยเกิดประเด็นแบบนี้เช่นกัน

ดังนั้นสื่อมวลชนเองต้องมีความตระหนักว่าตนมีผลต่อการชี้นำของสังคม สิ่งที่พูดออกไปบางครั้งอาจมี
ผลมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และก่อนที่จะนำเสนออะไรออกไปสู่สาธารณชน สื่อมวลชนควรเช็กข้อมูลให้ดีก่อน

สำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งการออกมาขอโทษตลอดจนปลดผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวออกจากรายการ ถือว่าเหมาะสม แต่การลงโทษแบบนี้ควรมีการกำหนดระยะเวลาในการลงโทษ เช่น เป็นการพักงานเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมเป็นการปรับปรุงตัวเองและพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถกลับมาทำงานสื่อมวลชนได้อีกครั้ง เพราะสื่อมวลชนก็เป็นมนุษย์ที่สามารถกระทำผิดพลาดได้ ยิ่งการทำงานของสื่อมีระยะเวลาที่เร่งรัด โอกาสในการผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ และผมคิดว่าสื่อมวลชนทุกแขนงในโลกนี้มีโอกาสที่นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อนเป็นเรื่องปกติ หากได้พัฒนาและปรับปรุงคนในสังคมก็สามารถยอมรับได้

รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ นิด้า

สําหรับกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของกีฬาก็จริงแต่มีการพาดพิงประธานาธิบดีของตุรกี โดยใช้ข้อมูลจากวิกิพีเดียและไม่ได้มีการทบทวนมาทำเป็นคลิปกล่าวหาในลักษณะการเหยียดหยามประธานาธิบดีตุรกี ถือว่าเป็นการดำเนินงานโดยขาดความยั้งคิด อาศัยความคึกคะนองในการจัดรายการเหมือนที่เคยทำมาตลอด ในท้ายที่สุดกลายเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมในการทำงานในเชิงนี้อย่างมาก

ซึ่งการวิจารณ์ในลักษณะนี้หากดูกันในเชิงลึกแล้วผิดจากข้อเท็จจริง เพราะในข้อเท็จจริงประธานาธิบดีคนดังกล่าวได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานด้านการเมือง ซึ่งข้อมูลที่พิธีกรดังกล่าวเสนอ น่าจะเป็นข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามและไม่น่าเชื่อถือ

ผมเองเคยไปประชุมที่ประเทศตุรกีหลายครั้ง ในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ก็ไม่พบว่าสถานการณ์ในตุรกีจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆ ได้ ในทางกลับกัน การใช้บริการอินเตอร์เน็ตต่างๆ นั้น ก็มีการเปิดกว้างในการติดต่อกับผู้คนอื่นๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของใครทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ คิดว่าน่าจะไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากนัก เพราะหลายฝ่ายคงรู้สึกว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ของคนคนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อคำพูดนั้นทั้งหมด อีกทั้งทางช่องได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการนำพิธีกรไปขอโทษต่อสถานทูตตุรกีแล้วและได้ระงับการจัดรายการของเขาเป็นที่เรียบร้อยก็น่าจะได้บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการทำงาน

สำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ในต่างประเทศก็เคยเกิดขึ้น ซึ่งในทางตรงก็คงต้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ในทางจริยธรรมคงลงโทษเองไม่ได้ ส่วนในวงการสื่อเองควรจะมีองค์กรที่มีการตรวจสอบและลงโทษเชิงจริยธรรม เพราะสื่อเองก็มีการเรียกร้องเสมอในการนำเสนอได้อย่างเสรีอยู่เสมอ ในเรื่องของสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ส่วนในเชิงกฎหมายของไทยนั้นก็มีสิทธิที่จะถูกฟ้องได้

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในฐานะที่เป็นคนเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับต่างประเทศมาโดยตลอดนั้น การวิพากษ์ผู้นำหรือคนอื่นๆ ถ้ามาจากข้อเท็จจริงก็ว่าไปตามเนื้อหา ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ เท่าที่ฟังมา เขาบอกว่าเป็น
การวิพากษ์ด้วยอารมณ์ คล้ายกับว่านำเสนอแต่ด้านลบของผู้นำคนดังกล่าวเพียงด้านเดียว

 

นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี วัย 64 ปี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกี ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2003-2014 รวมประสบการณ์
ทำงานในฐานะผู้นำประเทศ 15 ปี

แอร์โดอานก้าวผ่านอุปสรรคทางการเมืองได้ทั้งที่เคยถูกจำคุก เคยถูกประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงครั้งใหญ่ หรือแม้กระทั่งการรอดพ้นจากการถูกรัฐประหารจนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำตุรกีที่ไร้ผู้ต่อกร

เขาผ่านการเลือกตั้งมาทั้งหมด 14 ครั้ง ในจำนวนนี้ 6 ครั้งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ครั้งเป็นการลงประชามติ 3 ครั้งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น และอีก 2 ครั้งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งแอร์โดอานได้รับชัยชนะมาทั้งหมด

เริ่มการบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่ได้ดำเนินตามนโยบายเคร่งครัดในแบบฉบับของมุสลิม แต่บริหารประเทศในฐานะรัฐฆราวาส ที่แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน และพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนานใหญ่ ที่แอร์โดอานขนานนามโครงการไว้ว่า “เครซี่โปรเจ็กต์”

สื่ออย่างเอเอฟพีระบุว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้แอร์โดอานเริ่มกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น เกิดขึ้นจากการประท้วงใหญ่ต่อต้านแผนการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าบนพื้นที่สวนสาธารณะในนครอิสตันบูลเมื่อปี 2013 ตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในหมู่คนใกล้ชิด

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่ง อยู่ที่
ความพยายามรัฐประหารของกลุ่มทหารนอกแถวของตุรกีในปี 2016 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และถูกโต้กลับด้วยการกวาดล้างผู้เกี่ยวข้องอย่างแข็งกร้าวของประธานาธิบดีแอร์โดอาน ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากถึง 77,000 คนในจำนวนนี้รวมไปถึงทหาร ผู้สื่อข่าว ทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักวิชาการ รวมถึงนักการเมืองชาวเคิร์ด และนั่นก็ทำให้ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเริ่มตึงเครียดมากขึ้น

นอกจากนั้น ชัยชนะอย่างฉิวเฉียดในการทำประชามติ เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2017 เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะกระชับอำนาจ โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ยกเลิกตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
เปิดทางให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการ “แต่งตั้งและปลดรัฐมนตรี”

มีอำนาจในการ “แต่งตั้งผู้พิพากษา” และมีอำนาจในการปกครองภายใต้คำสั่งประธานาธิบดี (decree) ได้ในกรณีที่จำเป็น รวมไปถึงมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเกือบเต็มที่จากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ

เอเอฟพีรายงานว่า บรรดาผู้สนับสนุนมองประธานาธิบดีแอร์โดอานว่าเป็นผู้ที่เปิดกว้างกับชาวมุสลิมอนุรักษนิยมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง ทำให้ตุรกีเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เห็นต่างก็มองว่า ประธานาธิบดีตุรกีกำลังนำตุรกีไปในเส้นทางสู่การปกครองแบบอำนาจนิยม ภายใต้การปกครองของคนเพียงคนเดียว

ขณะที่แอร์โดอานอ้างว่าการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันเสถียรภาพทางการเมือง ป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นอีก

ล่าสุดประธานาธิบดีแอร์โดอานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีสมัยที่ 2

ภายใต้ระบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้แอร์โดอานดำรงตำแหน่งได้ยาวนานได้ถึงปี 2028 เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image