การเมือง ต่อรอง 3 มิตร พลังประชารัฐ ฝุ่นตลบ!

อาการของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่ม 3 มิตรที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุด แสดงความอ้ำอึ้งกับทิศทางของตัวเอง

อ้ำอึ้งด้วยลีลาทางการเมืองอันเชี่ยวชาญ หลังได้ฟังคำถามกลุ่ม 3 มิตรจะไปตั้งพรรคใหม่

“ไม่มี ไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องไปตั้งพรรคอื่นไม่ต้องคิด”

แล้วตามมาด้วย

Advertisement

“ส่วนจะอยู่พรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้นถึงเวลาก็จะทราบเอง ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่สะเด็ดน้ำ”

นายสมศักดิ์กล่าวถึงกรณีนี้หลังจากที่เคยมี “แหล่งข่าว” โยนหินถาม มาก่อนหน้า

แล้วหลังจากนั้นบรรดาแกนนำของ 3 มิตรก็ลดทอนถ้อยคำที่เคยเน้นย้ำว่า จะผนึกกับพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

ผิดกับเหตุการณ์เมื่อก่อนหน้านี้ที่กลุ่ม 3 มิตร ตระเวนพบปะและดึงอดีต ส.ส.เข้าร่วม

ยามนั้นมีแต่กระแสข่าวว่า นายสมศักดิ์ และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำ จะนำกลุ่มอดีต ส.ส.เข้าพรรคพลังประชารัฐ

กระทั่งบัดนี้ กระแสของกลุ่ม 3 มิตรเริ่มติดลมบน คำมั่นที่เคยตอกย้ำเริ่มมีแต่สัญญาณ “ไม่สะเด็ดน้ำ”

ลักษณาการเยี่ยงนี้ เปรียบเหมือน การต่อรอง

ตามกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้วมี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มาขยายผล ชี้ให้เห็นแนวทางขึ้นสู่อำนาจ

เมื่อ คสช. ยอมลุกจากเก้าอี้ “รัฐประหาร” และใช้หนทาง “การเลือกตั้ง” เพื่อขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งในรูปแบบประชาธิปไตย

เมื่อรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาด้วย “แม่น้ำ 5 สาย” ของ คสช. บัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

การเดินเข้าสู่ความสำเร็จ จึงต้องพึ่งพาบุคคลใน 2 สภาดังกล่าว

สำหรับวุฒิสภา กฎกติการะบุให้เป็นอำนาจของ คสช. ในการคัดเลือก

ใครที่ต้องการเป็น ส.ว. ต้อง “วิ่ง” เข้าหาขั้วอำนาจปัจจุบัน

ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้น จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่ให้การสนับสนุน

พรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุน หากต้องการผลักดันให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อตามระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องมี ส.ส.ในสภามาก

ทางเลือกที่ผ่านมามีทั้งอาศัยพรรคการเมืองเดิม ซึ่งปรากฏว่าไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าใดนัก

ทางเลือกต่อมาจึงเป็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีชื่อพรรคพลังประชารัฐ โด่งดังอยู่ในขณะนี้

และต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคนี้ดังขึ้นมา เป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 3 มิตร

กลุ่ม 3 มิตรที่เป็นกลุ่มการเมืองเก่า แต่รวมตัวกันใหม่โดยดึงเอาอดีต ส.ส.ร่วม

เป้าหมายเพื่อร่วมรัฐบาล

เป้าหมายของกลุ่ม 3 มิตรต้องการร่วมรัฐบาล ขณะที่

“พลังประชารัฐ” ต้องการเป็นรัฐบาล

การต่อรองจึงเริ่มมีขึ้น

การต่อรองทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นมาโดยตลอด

เมื่อปี 2557 หลังการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ

พลังทางการเมืองมีน้อย การต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น

แต่ในปี 2561 เมื่อการเลือกตั้งกำลังคืบคลานเข้ามา กฎกติกาการขึ้นสู่อำนาจตามวิถีประชาธิปไตยถูกกำหนดขึ้น

กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ที่เข้มแข็งขึ้น ย่อมต้องเคลื่อนไหว และต่อรอง

ยิ่งการเลือกตั้งต้องพึ่งพา “อดีตผู้แทนฯ” ยิ่งทำให้พลังของอดีต ส.ส. มีมากขึ้น

มีมากขึ้นพอที่จะต่อรองกับ คสช.ได้

กรณี ครม.สัญจร อุบลราชธานี ที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปพบกับ นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ก็สะท้อนให้เห็น

“ก็ได้เจอกับ นายสุพล และก็ต้องไปถามเขาเองว่าตัดสินใจอยู่พรรคการเมืองแล้วหรือไม่

ได้พูดคุยกันด้วยความห่วงใย แต่การเมืองเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งเราอยากให้มีการดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง

ซึ่งก็เคยพูดคุยหารือกับนักการเมือง เนื่องจากต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า”

การเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จึงมีการต่อรองกันหลายกลุ่มหลายก๊วน

แรกๆ อาจจะเห็นความเคลื่อนไหวของฝ่าย คสช. และพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.

แต่หลังๆ จะเห็นความเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายที่มีลักษณาการเดียวกัน

นั่นคือ แย่งชิงตัวอดีต ส.ส.

ระยะหลังจึงมีข่าวพรรคเพื่อไทย “ดูดกลับ” และมีข่าวการไหลเข้าพรรคเพื่อไทยด้วย

กรณีกระแสข่าว นายประดิษฐ์ และ นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ นักการเมืองระดับบิ๊กที่ว่าอาจเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้น แม้จะมีเสียงปฏิเสธมาแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย

ต่อมา นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเปิดตัว

ผละจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่อ้อมกอดพรรคเพื่อไทย

“ผมขอโทษท่านและน้องสาวท่านด้วยนะครับที่เคยต่อสู้กับท่าน แต่เมื่อความจริงปรากฏ ความอยุติธรรมและเผด็จการปกครองครอบงำประเทศ ประชาชนเดือดร้อน ทุกข์ยากลำบาก สิทธิเสรีภาพสูญสิ้น ชาติบ้านเมืองของเราบอบช้ำ เข้าขั้นวิกฤต

ผมจึงขออนุญาตมาร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับท่าน ขอร่วมสู้กับท่านและเหล่าวีรชนฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อนำพาประเทศไทยของเราให้ข้ามพ้นจากความขัดแย้ง ข้ามพ้นจากยุคมืดของเผด็จการ ที่กดขี่ข่มเหงพวกเรา

เดินทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตย สร้างความเสมอภาค ความเจริญรุ่งเรืองเช่นอารยประเทศ”

ขณะนี้แม้การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา แต่กำหนดวันเวลาก็ยังไม่แน่นอน

การกำหนดวันล่าสุด คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองได้กำหนดเอาไว้คร่าวๆ จำนวน 4 ระยะ

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 28 เมษายน และวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

ดังนั้น ในทุกๆ ระยะเวลาที่เคลื่อนเข้าหาวันเลือกตั้ง คือระยะเวลาที่กลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองกำลังฟูมฟักตัวเอง

ทั้งพรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองเก่า

ทั้งนักการเมืองใหม่ และอดีต ส.ส. ที่เคยเกรียงไกรในวงการการเมือง

ช่วงเวลานี้ การต่อรองระหว่างคนต่อคน กลุ่มต่อกลุ่ม คนต่อพรรค กลุ่มต่อพรรค และอื่นๆ ยังคงเข้มข้น

เป้าหมายการต่อรองหนีไม่พ้นผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่าย
จะพอใจ

ทั้งผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งผลประโยชน์ส่วนรวม

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเข้มข้น ฝุ่นตลบ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image