รายงานพิเศษ : ครม.ไฟเขียว ต้นไม้ 58 ชนิด ใช้ค้ำประกันเงินกู้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 เพื่อเปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ โดยกำหนดว่าจะต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ที่สามารถนำมาเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกและมีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากขึ้น

สำหรับไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมีจำนวน 58 ชนิด เช่น ไม้สกุลมะม่วง, ไม้สกุลทุเรียน, ไม้สกุลยาง, มะขามป้อม, ไผ่ทุกชนิด, ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, ประดู่, มะค่า, เต็ง, รัง, ตะเคียน, สะเดา, นางพญาเสือโคร่ง, ปีบ, ตะแบกนา, ไม้สกุลจำปี, กัลปพฤกษ์, ราชพฤกษ์, หว้า, จามจุรี, กฤษณา และไม้หอม เป็นต้น

การเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา เนื่องมาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้เตรียมการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน พร้อมกับผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อเป็นการออมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเสนอแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเองสามารถตัดไม้ไปขายได้ หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้

ซึ่งถือเป็นวิธีการออมเงินอีกทางหนึ่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา รวมทั้งเป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และสามารถเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ส่วนต้นไม้แต่ละชนิดจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใดจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงินต่อไป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ขั้นตอนต่อทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไปตรวจพิจารณา พร้อมทั้งรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ก็ให้ถือเป็นมติ ครม.ตามที่เสนอ

นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า โดยเฉพาะป่าเศรษฐกิจ ทั้งการปลูกในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตัวเอง หรือที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามกฎหมาย จึงมีการดำเนินการในเรื่องนี้ รวมทั้งจะมีการแก้กฎหมายว่าด้วยไม้หวงห้ามในพื้นที่ที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่รัฐบาลรับรอง หรือจัดสรรให้จะไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป หมายความว่าก่อนหน้านี้ตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่กำหนดไว้ว่า ไม้ประเภท ก หรือไม้หวงห้าม แม้จะปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ มีเอกสารสิทธิ หรือที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ แต่จะตัดไม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อแก้กฎหมายแล้ว หากไม้หวงห้ามเหล่านี้อยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ หรือที่ดินที่รัฐบาลจัดให้ ต่อไปเจ้าของก็สามารถตัดได้

“ไม้ยืนต้นทั้ง 58 ชนิดที่กำหนดเอาไว้ว่าประชาชนสามารถใช้เป็นสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ ใช้ค้ำประกันในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ โดยเวลานี้กรมป่าไม้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ได้ประชุม เพื่อหาแนวทางดำเนินการเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางประเมินมูลค่า ราคาไม้แต่ละชนิด” นายอรรถพลกล่าว

Advertisement

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า นอกจากมูลค่าในตัวเองของไม้แต่ละชนิดแล้ว ยังมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความเสี่ยงต่อการถูกลักลอบตัด โอกาสในการเจริญเติบโต ซึ่งคุณสมบัติตรงนี้ทางสถาบันทางการเงินจะเป็นผู้ประเมิน โดยเอาหลักการราคากลางที่คณะกรรมการร่วมระหว่างกรมป่าไม้ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำหนดออกมาเป็นตัวพิจารณา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขใดๆ ออกมาทั้งสิ้น

หากเทียบกับมูลค่าไม้ท่อนที่ทางกรมป่าไม้ได้เข้าไปจับกุมการลักลอบตัดของกลุ่มลักลอบตัดไม้ มูลค่าของไม้ท่อนของไม้แต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ขึ้นกับความนิยมในตลาด และคุณภาพของเนื้อไม้ โดยไม้เนื้อแข็งที่มีปริมาณแก่นไม้มาก ก็จะมีมูลค่าสูงกว่าไม้ที่มีกระพี้มาก

“เช่น ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ โดยปกติแล้วในท้องตลาดจะมีราคาลูกบาศก์เมตรละ 6-8 แสนบาท อันนี้เป็นไม้ท่อนที่แปรรูปแล้ว ถามว่าหากเป็นต้นไม้ที่ต้องการจะแปรเป็นทรัพย์สินสำหรับทำธุรกรรมนั้น แต่ละต้นมีมูลค่าเท่าไหร่ คิดอย่างไร ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่ก็จะเปรียบเทียบให้เห็นเบื้องต้นแบบนี้ ซึ่ง 1 ลูกบาศก์เมตรของไม้ต้นหนึ่ง น่าจะเป็นไม้ที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 5 เมตร อายุน่าจะ 20 ปีขึ้นไป แต่นอกจากมูลค่าเนื้อไม้แล้ว ทางสถาบันทางการเงินก็จะต้องคิดความเสี่ยงอื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น ความเสี่ยงต่อการถูกลักลอบตัด ความเสี่ยงต่อการตายเอง เป็นต้น” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

นายอรรถพลกล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้มากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าหลังจากที่กรมป่าไม้ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ออกไป มีประชาชนได้เข้ามาขอรับแจกกล้าไม้หายาก กล้าไม้ยืนต้น จากสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ทั่วประเทศที่กรมป่าไม้เพาะแจกเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ยังมีมูลค่าสูงสร้างประโยชน์แก่เจ้าของอย่างจับต้องได้อีกด้วย

ถือเป็นวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้กับเกษตรกรที่ปลูกไม้มีค่าตามหัวไร่ ปลายนา ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image