‘ไก่อู’ โต้ ‘นคร’ ทหารไม่เกี่ยวล้มปู-แม้ว บอกไม่ว่าใครเป็นรบ. ถ้าปท.ถึงทางตัน ก็ต้องรปห.

‘ไก่อู’ โต้ ‘นคร มาฉิม’ ยัน กองทัพไม่มีเอี่ยวล้มรัฐบาล ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ แจง รปห.เพราะจำเป็น บ้านเมืองไร้ทางออก มีพรรคการเมือง-ปชช.เรียกร้องให้ทหารช่วย ปัด จงใจให้เกิดทางตัน ถามกลับ ทำไมฝ่ายการเมืองแก้ปัญหากันเองไม่ได้ บอก ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ถ้าบ้านเมืองไปต่อไปไม่ได้ ทหารก็ต้องรปห. ชี้ รปห. 2557 ต่างจาก รปห.2549 เหตุมีกลไกประชารัฐ-การปฏิรูป

วันที่ 30 กรกฎาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสท์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่าการล้มรัฐบาลนายทักษิณและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการกระทำเป็นขบวนการโดยระดมสรรพกำลังทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ว่า ตนไม่รู้จักและไม่ได้ติดตามผลงานของนายนคร สำหรับข้อคิดเห็นที่นายนครสื่อต่อสังคมนั้น ตนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ต้องไปถามพรรคการเมืองและบรรดาสมาชิกว่าเห็นอย่างไร แต่สิ่งที่ตนอธิบายได้ในฐานะที่ยังเป็นทหารอยู่คือ ทหารหรือกองทัพไม่ได้อยู่ร่วมในขบวนการล้มล้างพรรคการเมืองหรือรัฐบาลในอดีต

“ กองทัพไม่เคยเข้าไปร่วมในขบวนการ เหตุที่ต้องรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเพราะความจำเป็น ซึ่งสังคมไทยได้ประจักษ์แล้วว่าการรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ แต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีทางการเมืองได้ทอดยาวมาเป็นเวลานานจนสังคมรู้สึกว่าประเทศชาติจะไปต่ออย่างไร รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ เพราะต่างคนต่างไม่ฟังซึ่งกันและกัน ถ้าปล่อยต่อไปอาจมีการสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนได้เห็นแล้ว คือหลังจากกระทำรัฐประหารปรากฎว่ามีการจับอาวุธสงครามได้เยอะ คนที่ถูกจับก็ยังติดคุกอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น ถ้าไม่ดำเนินการในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะมิคสัญญีขนาดไหน พรรคการเมืองที่อยู่ในระบบก็ไม่เห็นมีใครที่สามารถพาประเทศผ่านวิกฤตินั้นไปได้ อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองส่วนหนึ่งว่าอยากให้ทหารออกมาช่วยเหลือ ซึ่งคำว่าช่วยเหลือก็ขึ้นอยู่กับการตีความ เพราะฉะนั้นจึงเกิดการรัฐประการ และตั้งแต่นั้นมาก็มีการปฏิรูปก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งก็มีโรดแมปกำหนดไว้ชัดเจน จึงขอยืนยันว่าทหารไม่ได้ร่วมสมาคมคบคิดกับใครเพื่อจะล้มล้างใคร แต่ทำไปเพราะสถานการณ์ในเวลานั้นไม่มีทางออกของประเทศ ” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่ามีการสมคบคิดเพื่อให้เกิดทางตันก่อนรัฐประหาร พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า “ ผมไม่คิดอย่างนั้น ถ้าย้อนไปดูจะพบว่าก่อนมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง มันมีกฎหมายหลายฉบับที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่ยอมรับ ดำเนินการโดยพรรครัฐบาลในขณะนั้น ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าทหารสามารถไปกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหวของพรรครัฐบาลได้ด้วยหรือ คิดว่าคงไม่ใช่ การบริหารประเทศไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ทำได้ แต่ต้องอยู่บนศรัทธาของประชาชน รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ของคนในสังคม แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และรัฐบาล ถ้าฝืนทำในสิ่งที่สังคมไม่เห็นด้วย คสช.กับรัฐบาลก็ลำบากเช่นกัน แต่วันนี้ที่ยังดำเนินไปได้อยู่ เพราะสังคมเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นอยู่ในภาวะที่ยอมรับได้ ส่วนที่บอกว่าในเวลานั้นยังไม่ควรเป็นทางตัน แต่ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น มันก็ควรจะเป็นไปอย่างนั้น แต่ทำไมสังคมส่วนใหญ่จึงไม่เป็นแบบนั้น ทำไมพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน หรือกลุ่มที่อยู่นอกกระบวนการ รวมถึงภาคประชาชนจึงเกิดความระส่ำระสาย ต้องไปถามเขา ทหารไม่รู้หรอก ”

Advertisement

เมื่อถามว่า การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุดเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลฝั่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจมองได้ว่าการกำจัดนายทักษิณคือเป้าหมายของการรัฐประหาร พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า “อย่าตั้งข้อสังเกตแบบนั้น เพราะถ้าบ้านเมืองไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ทหารก็มีความจำเป็นต้องทำ แต่หากใครจะตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ผมก็ห้ามความคิดใครไม่ได้”

เมื่อถามอีกว่า มองว่าการรัฐประหารเป็นหนึ่งในกระบวนการทำลายประชาธิปไตยหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ถ้าเวลานั้นไม่มีการรัฐประหารโดยคสช. ต้องถามว่ามีวิธีอื่นอีกไหมที่ทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ และถ้ามี ทำไมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเวลานั้นจึงไม่ทำ หรือทำไมทำแล้วทำไม่ได้ นอกจากนี้ คำว่าประชาธิปไตยยังไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายถึงเนื้อหาสาระที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่และไม่ละเลยเสียงของคนส่วนน้อย ยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่ทุจริต ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามทำให้บรรยากาศเหล่านั้นเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฝ่ายจะให้ความร่วมมือแค่ไหน อย่างไรก็ตาม จะวิจารณ์อย่างไรก็เป็นแง่คิดของฝ่ายการเมือง

“ในฐานะรัฐบาลและคสช. อยากมองว่าถ้าเราคิดแต่เรื่องเก่า เราจะก้าวไม่ข้ามมัน แน่นอนว่าอดีตคือประวัติศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นบทเรียนกับทุกฝ่าย แต่อยากให้มองถึงการเดินไปข้างหน้าว่าจะก้าวผ่านความขัดแย้งที่เคยเป็นมาได้อย่างไร” โฆษกรัฐบาลระบุ

Advertisement

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ตนไม่ทราบ และไม่ขอวิพากษ์ใคร เท่าที่เห็นคือคณะผู้ก่อการรัฐประหารเป็นคนละชุด และแนวทางในการดำเนินการหลังการรัฐประหารก็ต่างกัน เมื่อปัจจุบันตนอยู่ในรัฐบาลนี้ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ดำเนินการในเวลานี้คือพยายามแก้ไขปัญหาในอดีตของประเทศอย่างเต็มกำลังด้วยกลไกบูรณาการที่เรียกว่าประชารัฐ รวมถึงวางยุทธศาสตร์ชาติเพื่อกำหนดทางเดินของประเทศ ดังที่เห็นว่าหลายเรื่องมีการเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนว่าการปฏิรูปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะการปฏิรูปหมายถึงความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าปุบปับจะเรียกปฏิวัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image